คอลัมนิสต์

Business Trends
- 2021-02-07 07:05:02
- 603
แบงก์ชาติ เปิด 4 กลุ่มธุรกิจ “รอด-ไม่รอด”
By. นางชายขอบ
สัญญาณเตือนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า ในไตรมาสแรกปี 2564 นี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง
เนื่องมาจากปัญหาการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายๆประเทศรวมถึงประเทศไทย ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องดำเนินมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น แต่รัฐบาลหลายๆประเทศและประเทศไทย ต่างก็หลีกเลี่ยงมาตรการปิดเมืองแบบทั่วทั้งประเทศกันก็ตาม
เพราะฉะนั้น “ภาคส่งออกไทย” ก็หนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงได้ ประกอบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในไทยด้วย จึงยิ่งทำให้การฟื้นตัวของภาคส่งออก “ฟื้นตัวช้าลง” ในไตรมาสแรกนี้ด้วย
จากภาพที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้ ได้พลิกไปจากที่เมื่อปลายปีที่แล้วทั้งแบงก์ชาติ นักเศรษฐศาสตร์ภาครัฐและเอกชน ต่างก็คาดหวังว่าจะเป็นอีกตัวเอกที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่รองจาก “ภาครัฐ” ที่เป็นพระเอกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ไอเอ็มเอฟ ยังได้ปรับลดคาดการณ์ปี 2564 การค้าโลกขยายตัว 8% ภายใต้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP)อยู่ระดับ 5.5% โดยคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต 5.1% ส่วนจีนขยายตัว 8.1% ยุโรป (19 ประเทศ) เติบโต 4.2% ญี่ปุ่นขยายตัว 3.1% อีกประเทศที่มาแรง คือ อินเดีย ขยายตัวสูงมากถึง 11.5% เนื่องจากการฟื้นตัวทั้งภาคเกษตรและภาคผลิต
ขณะที่ตลาดส่งออกรายประเทศของไทยเริ่มทยอยกลับมาขยายตัวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกไทยไปสหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือนก่อนในปีที่แล้ว และล่าสุด เดือน ธ.ค. 2563 ขยายตัวถึง 2 หลักด้วยอยู่ที่ 15.4% ส่วนส่งออกไปจีนเพิ่งกลับมาขยายตัวเดือนธ.ค. เช่นกันเติบโต 7.2% ตลาดอาเซียนขยายตัวแผ่ว 0.8% ตลาดญี่ปุ่นโตสูงถึง 14.8% และตลาดอินเดียโตสูง14.5%
สำหรับตลาดส่งออกที่หดตัวได้แก่ ส่งออกไปยุโรป -2.4% และกลุ่ม CLMV หดตัว 6.3% ซึ่งสินค้าที่ส่งออกได้อันดับต้น ๆ ได้แก่ อาหาร สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน (WFH) สินค้าที่เกี่ยวกับป้องกันการติดเชื้อ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เป็นต้น
แต่ด้วยเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวชะลอลง ย่อมกระทบต่อด้านความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้าของไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงออกมาปรับลดคาดการณ์ภาคส่งออกปีนี้เติบโต 4% จากคาดเดิม 4.7% ภายใต้คาดการณ์ GDP ปีนี้ ขยายตัว 2.2%
มาดูด้านการบริโภคในไทยที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของประเทศในเวลานี้ ที่ได้แรงส่งจากมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ บรรเทาผลกระทบรายได้ที่ลดหายไปของภาคครัวเรือนไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะที่กำลังจะเริ่มเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนโครงการเราเที่ยวด้วยกันต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย เพราะการเดินทางระหว่างจังหวัดมีบางจุดมีมาตรการกักตัว 14 วัน ผลกระทบจึงกลับมาตกในธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวและแรงงานกลุ่มนี้ซ้ำแผลเดิมที่ยังไม่ทันจะหาย
และตามมาด้วยปัญหาผู้ว่างงานและผู้เสมือนคนว่างงาน (ชั่วโมงทำงานที่ลดลง) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนที่ลดลง ทำให้ภาคการบริโภคยังคงตกอยู่ในภาวะฝืดเคืองกันต่อเนื่อง
มาดูด้านการบริโภคโดยรวมในไตรมาสแรกนี้ พบว่าแม้แต่คนที่มีเงินก็ใช้จ่ายระมัดระวัง หลังเดือนแรกของปีนี้มีการยกเลิกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแล้ว ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์มีเทศกาลต่างๆ เริ่มด้วยเทศกาลตรุษจีน ที่เป็นปีแรกที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดพิเศษในวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อหวังกระตุ้นการใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวกันให้มาก ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจกลุ่มผู้บริโภคในกรุงเทพ และประเมินภาพรวมยอดการใช้จ่ายเทศกาลตรุษจีนปีนี้มีเม็ดเงินสะพัด 1.7 หมื่นล้านบาท ลดลงถึง 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการใช้จ่ายทุกกิจกรรมลดลง ไม่ว่าซื้อของเซ่นไหว้ การท่องเที่ยว การทำบุญ การทานข้าวนอกบ้าน รวมไปถึงการแจกเงินแต๊ะเอียด้วย ซึ่งหลังเทศกาลตรุษจีน จะเป็นวันวาเลนไทน์ และปิดท้ายเดือนด้วยวันมาฆบูชา ในวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ มีแนวโน้มการใช้จ่ายลดลงไม่ต่างกับเทศกาลตรุษจีน และยิ่งในเดือนมีนาคมไม่มีเทศกาลวันหยุดใดๆ
เพราะฉะนั้น ในไตรมาสแรกนี้เครื่องยนต์ใหญ่ทางเศรษฐกิจไทย ทั้งภาคส่งออกและภาคการบริโภคตกอยู่ในภาวะที่อ่อนแรงต่อเนื่อง
ด้านแบงก์ชาติยังคงให้ภาพเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวที่แตกต่างกันตามรายภาคเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งล่าสุดได้เปิดข้อมูลกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากโควิดระลอกใหม่ในเวลานี้ ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
-กลุ่มที่ฟื้นตัวจากโควิดรอบแรกแล้ว และมีรายได้กระทบไม่มากจากโควิดระลอกใหม่ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารกระป๋อง ขนส่งสินค้า ก่อสร้างรายใหญ่
-กลุ่มที่ยังฟื้นไม่เต็มที่ ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วน และที่อยู่อาศัยแนวราบ
-กลุ่มที่มีรายได้ลดลงชั่วคราวและคาดจะฟื้นตัวได้หลังคลายมาตรการ ได้แก่ กลุ่มที่ฟื้นตัวรอบแรก คือ อาหารแช่เย็นและแช่แข็ง
-กลุ่มที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ได้แก่ การค้า ค้าปลีก ร้านอาหาร โรงแรมในจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศ ฯลฯ
-กลุ่มที่ค่อนข้างแย่อยู่แล้วแม้รายได้กระทบน้อยแต่จะฟื้นตัวช้า ได้แก่ คอนโดฯที่เน้นลูกค้าคนไทย และสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม
-กลุ่มที่แย่อยู่แล้ว แม้คลายล็อคดาวน์ก็ยังฟื้นตัวช้าจนกว่าจะมีวัคซีนต้านโควิดและเปิดประเทศ ได้แก่ คอนโดฯที่ล้นตลาด และคอนโดฯที่เน้นลูกค้าต่างชาติ โรงแรมที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสายการบิน รถทัวร์ท่องเที่ยว
จากภาพความแตกต่างของการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่างๆ ดังกล่าว ทำให้แบงก์ชาติมองความจำเป็นของการใช้มาตรการทางการเงินในแก้ปัญหาแบบตรงจุดเหมาะสม และเพียงพอ มากกว่าการพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประชุมรอบแรกของปีนี้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5%
สำหรับประเด็นที่กนง. เป็นห่วง ยังคงเป็นเรื่องเดิมๆได้แก่
1 คงเป็นปัญหาตลาดแรงงานที่เปราะบาง เพราะมีทั้งผู้ว่างงานและผู้ที่ถูกลดชั่วโมงทำงาน เพิ่มจำนวนขึ้นในระยะสั้นนี้
2 ปัญหาสภาพคล่องที่กระจายไม่ทั่วถึง ซึ่งเป็นไปตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นตามฐานะทางการเงินที่เปราะบางในแต่ละกลุ่มไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือรายบุคคล
3 ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง แม้ขณะนี้ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค แต่ยังต้องติดตามใกล้ชิด และยังจำเป็นต้องพิจารณามาตรการเพิ่มเติมออกมาอีก
ประเด็นใหม่ ที่กนง.รอบนี้ ได้ประเมินว่า มีปัจจัยลบเพิ่มเติม 3 ประเด็น คือ
-ผลจากมาตรการคุมโควิดที่เข้มงวดและกว้างกว่าที่กนง.ประเมินไว้เดิม -จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าคาด ซึ่งปีนี้ได้ปรับลดลงมาเหลือ 5.5 ล้านคน จากคาดเดิม 9 ล้านคน โดยคาดว่าจะเปิดประเทศได้ปีหน้า
-รายจ่ายของภาครัฐในปี 2565 มีแนวโน้มน้อยกว่าคาดไว้เดิม ขณะที่เศรษฐกิจยังจำเป็นต้องพึ่งมาตรการคลังอย่างต่อเนื่อง
ด้านปัจจัยบวกที่เพิ่มเติม ได้แก่ -มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีเพิ่มเติมใน 2 ไตรมาสแรกนี้
-การส่งออกฟื้นตัวดีกว่าคาดเกือบทุกหมวดสินค้า
-การเลื่อนเบิกจ่ายงบประมาณจากเดิมในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว มาเป็นปีนี้แทน
เมื่อแบงก์ชาติมองปัจจัยบวกและลบเช่นนี้ จึงอยากเก็บกระสุน “การลดดอกเบี้ยนโยบาย” เอาไว้ก่อน เพราะการลดดอกเบี้ยนโยบาย เป็นการใช้เพื่อส่งผลเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ
แต่หากย้อนดูมาตรการทางการเงินที่แบงก์ชาติทำในเวลานี้ ได้แก่ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การพักหนี้ การเติมสภาพคล่องผ่านซอฟท์โลนของแบงก์ชาติ ซึ่งให้เจ้าหนี้สถาบันการเงินเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม ทั้งๆที่เจ้าหนี้เหล่านี้ก็ต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากปัญหาหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้นของลูกหนี้ในระยะข้างหน้าเช่นกัน
จึงกลายเป็นว่า แต่ละฝ่ายตกอยู่ในสภาพ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” ขึ้นมา
แม้ว่าที่ผ่านมา แบงก์ชาติพยายามปลดล็อกปัญหาที่ติดขัดต่างๆแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถส่งผ่านมาตรการทางการเงินที่ออกมาให้เกิดประสิทธิผลแก่ลูกหนี้เท่าที่ควร ทำให้ภาคธุรกิจโดยรวมฟื้นตัวได้ช้า ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าตามภาคธุรกิจเหล่านี้ และแม้มีวัคซีน ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่เกิดโควิดระลอกใหม่ๆขึ้นอีก
ขณะที่แบงก์ชาติย้ำเตือนประเด็นเดิมว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังความไม่แน่นอนสูงและคงต้องรอการฟื้นตัวในปี 2565
หากเป็นเช่นนี้จริงแล้ว ผู้ประกอบการที่อ่อนแออยู่ในเวลานี้ คงจะไม่สามารถทนทานรอดจากพิษโควิดตลอดปีนี้ได้ไหว
เพราะแบงก์ชาติและภาครัฐปล่อยให้สถาบันการเงินกุมชะตาผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นฐานใหญ่ในการผลิตสินค้าห่วงโซ่อุปทานส่งออก และการว่าจ้างงานที่มีจำนวนมาก
- ผู้โพสต์ superya
- 2021-02-07 07:05:02
- 603
ความคิดเห็น