จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : แผนPDP 8 เวียดนามติดปีก SSP แนวโน้มธุรกิจโตก้าวกระโดด


13 มิถุนายน 2566
รายงานพิเศษ แผนPDP 8 เวียดนามติดปีก SSP.jpg
ความชัดเจนของแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (PDP8) ของเวียดนาม   หนุนธุรกิจ บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP)   ขยายพอร์ตกำลังผลิตเติบโตก้าวกระโดด  ตั้งเป้าในอีก 3 ปี กำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็นเท่าตัวทะลุ 500 MW


Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามประกาศแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP 8) แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปกว่า 2 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางหลักของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในเวียดนาม รวมถึงแนวทางของส่วนผสมพลังงานเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า (Energy mixed)

โดย 5 ข้อสรุปสำคัญของ PDP 8 ได้แก่
I) กำลังการผลิตในปี 2030 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2020 ที่ 69 GW เป็น 150 GW ในปี 2030
II) ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และพัฒนาสายส่งอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

III) แหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและมีการเติบโตสูง คือ ก๊าซธรรมชาติและพลังงานลม โดยปี 2030 มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 43% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2020 ทั้งนี้ผลจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่มากขึ้น มีผลให้เวียดนามต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จากเดิมที่ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ในส่วนของการพึ่งพาพลังงานลม ถือว่าสอดคล้องไปกับศักยภาพของภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวถึง 3,000 กิโลเมตร และมีกำลังลมเฉลี่ยสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

IV) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนลดลงจาก 24% ในปี 2020 เป็น 13% ในปี 2030  ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนระบบสายส่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตจากพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามกลับมีแผนสนับสนุนให้ติดตั้ง Solar rooftop หรือ Solar farm เพื่อการใช้ด้วยตัวเอง (Self-consumption) ซึ่งมีเป้าหมายติดตั้งถึง 10 GW ภายในปี 2030 ด้วยการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15.5 GWh  

V) การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แม้สัดส่วนต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดลดลง (เหลือ 20% ในปี 2030 จาก 31% ในปี 2020) แต่กำลังการผลิตปี 2030 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 41% เทียบกับ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2050 เวียดนามมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในช่วงทศวรรษที่จะเกิดขึ้น แต่เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) โดยตั้งเป้าว่าการผลิตไฟฟ้าจาก RE จะมีสูงถึง 30.9-39.2% ภายในปี 2030 และ 67.5-71.5% ในปี 2050 โดยการพึ่งพิงพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ เป็นเพียงแหล่งพลังงานที่ใช้ทดแทนถ่านหินในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน (Energy transition) เพราะในท้ายที่สุดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติก็จะลดบทบาทลงเหลือเพียง 7-8% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050 นอกจากนี้ ในการผลิตไฟฟ้าจาก RE เวียดนามถือว่าเป็นตลาดสำคัญของ ASEAN ด้วยสัดส่วนมากถึงราว 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่มีใน ASEAN ทั้งหมด

สำหรับผลต่อประเทศไทย SCB EIC วิเคราะห์ว่า เม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ทางการเวียดนามต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างชาติ  ซึ่งจะเป็นโอกาสของธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการลงทุนในตลาดเวียดนามอยู่แล้ว เพื่อเข้าไปรับประโยชน์จากแผนการขยายกำลังการผลิตในช่วง 10 ปีที่จะเกิดขึ้นนี้  ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสำคัญ แต่จากแผนใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ลดความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ทำให้กลุ่มทุนไทยอาจจะต้องหันมาพิจารณาโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น เนื่องจากทางการเวียดนามให้การสนับสนุนและกำลังการผลิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด (จากกำลังการผลิตที่ 1 GW ในปี 2020 เป็น 28 GW ในปี 2030)
แผนผลิตไฟฟ้า PDP8 ของเวียดนามที่มีความชัดเจนส่งผลดีต่อบมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP)  ซึ่งนายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยอมรับว่า การเข้าลงทุนในเวียดนามตามแผนพัฒนาพลังงาน PDP8  จะสนับสนุนให้พอร์ตกำลังผลิตเติบโตเท่าตัวในอีก 3 ปี  หลังจากรัฐบาลเวียดนามอนุมัติ PDP โดยมีเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับภูมิภาคอาเซียนและมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2573 โดยจะมีการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในเวียดนามให้ไม่น้อยกว่า 150 GW ภายในปี 2573
 
ช่วงที่ผ่านมา SSP เป็นบริษัทฯหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเข้าไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในเวียดนาม และเตรียมเข้าไปพัฒนาต่อยอดในโครงการต่างๆ อาทิเช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานทดแทนรูปแบบอื่นๆ
          
สำหรับโครงการในเวียดนามของ SSP   ได้แก่ โซลาร์ฟาร์ม Binh Nguyen ขนาดกำลังการผลิต 49.61 MW และ โครงการวินด์ฟาร์มในประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังผลิต 48 MW ที่สามารถ COD ได้ตามแผน  ซึ่งจะเห็นว่าโครงการที่ SSP เข้าไปลงทุนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และรัฐบาลเวียดนาม และการอนุมัติแผนพัฒนาพลังงาน PDP8 ในเวียดนามในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ SSP เข้าไปลงทุนและพัฒนาโครงการต่อยอด  สนับสนุนการขยายพอร์ตกำลังผลิตได้แบบก้าวกระโดด
         
ปัจจุบันบริษัทฯมีฐานะทางการเงินที่มีความแข็งแกร่ง รองรับแผนการขยายพอร์ตโรงไฟฟ้า Renewable ทุกรูปแบบ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้ว 236 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าหมายในอีก 3 ปี มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็นเท่าตัวทะลุ 500 MW โดยมีสัดส่วนจากแหล่งพลังงานใหม่ๆ เช่น พลังงานลม หรือ ชีวมวล เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น
SSP