จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : ผลงาน EP ปี 66 แข็งแกร่ง หลังเวียดนามประกาศแผน PDP8


14 มิถุนายน 2566
ความชัดเจนเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 ของเวียดนาม ส่งผลดีต่อผู้ประกอบธุรกิจพลังงานทดแทนของไทย โดยเฉพาะ บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) ซึ่งบริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้รวมปีนี้เติบโตมากกว่า 50%

รายงานพิเศษ EP.jpg

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์  ระบุว่า เมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามประกาศแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP 8)  ซึ่งมีสาระสำคัญ  5 ประการ ได้แก่

I) กำลังการผลิตในปี 2030 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2020 ที่ 69 GW เป็น 150 GW ในปี 2030

II) ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และพัฒนาสายส่งอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

III) แหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและมีการเติบโตสูง คือ ก๊าซธรรมชาติและพลังงานลม โดยปี 2030 มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 43% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2020 ทั้งนี้ผลจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่มากขึ้น มีผลให้เวียดนามต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จากเดิมที่ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ในส่วนของการพึ่งพาพลังงานลม ถือว่าสอดคล้องไปกับศักยภาพของภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวถึง 3,000 กิโลเมตร และมีกำลังลมเฉลี่ยสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

IV) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนลดลงจาก 24% ในปี 2020 เป็น 13% ในปี 2030  ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนระบบสายส่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตจากพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามกลับมีแผนสนับสนุนให้ติดตั้ง Solar rooftop หรือ Solar farm เพื่อการใช้ด้วยตัวเอง (Self-consumption) ซึ่งมีเป้าหมายติดตั้งถึง 10 GW ภายในปี 2030 ด้วยการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15.5 GWh  

V) การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แม้สัดส่วนต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดลดลง (เหลือ 20% ในปี 2030 จาก 31% ในปี 2020) แต่กำลังการผลิตปี 2030 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 41% เทียบกับ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2050 เวียดนามมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

โดยเวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน  (Renewable Energy : RE) แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในช่วงทศวรรษที่จะเกิดขึ้น  ตั้งเป้าว่าการผลิตไฟฟ้าจาก RE จะมีสูงถึง 30.9-39.2% ภายในปี 2030 และ 67.5-71.5% ในปี 2050  

สำหรับแผน PDP 8 ต่อไทย  ผลจากเม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางการเวียดนามมองว่า ต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย  ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการลงทุนในตลาดเวียดนามอยู่แล้ว เพื่อเข้าไปรับประโยชน์จากแผนการขยายกำลังการผลิตในช่วง 10 ปีที่จะเกิดขึ้น 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสำคัญ แต่จากแผนใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ลดความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ทำให้กลุ่มทุนไทยอาจจะต้องหันมาพิจารณาโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น เนื่องจากทางการเวียดนามให้การสนับสนุนและกำลังการผลิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด (จากกำลังการผลิตที่ 1 GW ในปี 2020 เป็น 28 GW ในปี 2030)

ขณะที่ ประธานกรรมการ บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) “ยุทธ ชินสุภัคกุล” กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มภาคเอกชนไทยได้ประชุมร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเวียดนาม ในเรื่องการเจรจาราคาค่าไฟฟ้าและการเสนอราคาชั่วคราว
ซึ่งผลการเจรจาไปในทิศทางที่ดี โดยทางรองนายกฯ ได้เร่งรัดให้มีการออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า (Electricity Generation License : EGL) ให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอผลการเจรจาค่า FIT ใหม่ และให้เร่งรัดการจ่ายไฟฟ้าทันทีสำหรับโครงการที่ได้รับ EGL แล้ว  โดยเสนอให้นักลงทุนรับค่าไฟฟ้าจากทาง EVN ในอัตรา 50% ของราคาสูงสุดที่ได้มีการประกาศไว้ (6.9 US cent)  และเมื่อได้ผลสรุปราคา FIT ทาง EVN ก็จะจ่ายคืนส่วนต่างทั้งหมดให้  ซึ่งจะทำให้โครงการของ EP ทั้ง 4 โครงการ สามารถเชื่อมต่อและจ่ายไฟฟ้าได้ทันที

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม (วินด์ฟาร์ม) ขนาดกำลังการผลิตรวม 160 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม ประกอบด้วย โครงการในจังหวัด Gia Lai ขนาดกำลังผลิตรวม 100 เมกะวัตต์ และโครงการในจังหวัด Huong Linh ขนาดกำลังผลิตรวม 60 เมกะวัตต์  ปัจจุบันได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ทุกโครงการแล้ว มีความพร้อมที่จะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีที่ได้รับการอนุมัติการเชื่อมต่อจากทาง EVN และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 66 เป็นต้นไป

ส่วนภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 66 บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้รวมปีนี้จะเติบโตมากกว่า 50% โดยเฉพาะธุรกิจโรงไฟฟ้าคาดว่าจะมีการเติบโตรายได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า  เนื่องจากจะมีรายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในพอร์ตลงทุนทั้งในและต่างประเทศ  ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการติดตั้ง Solar Rooftop, Solar farm และการขายไฟฟ้าให้เอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากในปีนี้อัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์  ทำให้ความต้องการติดตั้งเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทสามารถขายไฟฟ้าให้กับภาคเอกชนได้มากขึ้น
EP