จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : TEGH แกร่ง “ธุรกิจยางพารา” เข้ามาตรฐาน-พร้อมตีตลาด EU


16 มิถุนายน 2566
ปัจจุบันทุกอุตสาหกรรมให้น้ำหนักในเรื่องการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมยางพารา ที่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย  ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ TEGH  ที่ผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่จะประกาศใช้กฎหมายในปี 67  
รายงานพิเศษ TEGH.jpg

อุตสาหกรรมยางพาราของไทย มีความพร้อมในการปฎิบัติตามเกณฑ์ของยุโรป เรื่องการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งนายณกรณ์  ตรรกวิรพัท   ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  ระบุจากการหารือร่วมกับอธิบดีกรมยุโรป และคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม  พบว่า ประเทศไทยมีนโยบายในการคุ้มครองพื้นที่ป่าไม้ และกระบวนการทางกฎหมายในการตรวจสอบความเป็นเจ้าของที่ดิน เช่น พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกฎข้อบังคับการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อควบคุมการตัดไม้ทำลายป่าและการติดตามแหล่งที่มาของผลิตผลทางการเกษตรภายใต้การดำเนินงานของ EUDR จึงมั่นใจว่าประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องนี้มาก
           
โดยจากการหารือครั้งนี้ ผู้แทนจากยุโรปมีความมั่นใจ และชื่นชมการจัดการข้อมูลยางพาราของไทยสำหรับรองรับกฎหมายดังกล่าวว่า ทำได้ดีเกินที่คาดการณ์ไว้มาก จากการที่ กยท. ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบการยางไว้ในระบบข้อมูลของ กยท. ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางไทย กว่า 90% ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. แล้ว
          
โดยสามารถแสดงประเภทเอกสารทางกฎหมาย ระบุพื้นที่ตั้งของสวนยางได้  ซึ่ง กยท. ได้สำรวจและจัดทำแผนที่พิกัดแปลงเพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ตั้งของแปลงที่ไม่บุกรุกป่า เทียบกับแผนที่ป่าอนุรักษ์ของกรมป่าไม้ประเทศไทย และ Global Forest Watch นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับภาคเอกชนประเมินการจัดการความเสี่ยงภายใต้โครงการ "Rubber Way" เพื่อประเมินและสร้างแผนที่ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)

ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางการทำธุรกิจของ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์  หรือ TEGH ที่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืน  โดยนางสาวสินีนุช โกกนุทาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยผลงานปีนี้ว่า บริษัทฯคงเป้าหมายรายได้ในปีนี้เติบโต 10% จากปีก่อน โดยการเติบโตมาจากการขยายกำลังการผลิต และการปรับปรุงประสิทธิภาพของทั้ง 3 สายธุรกิจหลักให้เป็นไปตามมาตรฐานการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและการลดภาวะโลกร้อน  ได้แก่ 

1.กลุ่มธุรกิจยางพารา บริษัทฯ อยู่ในระหว่างการเจรจากับลูกค้าอินเดียและจีน ซึ่งจะทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง และในส่วนของสินค้าเกรดมาตรฐานความยั่งยืน Sustainable Product หรือ Eco Product ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ซึ่งแนวโน้มจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้าของบริษัทฯ สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ และยังสอดรับกับข้อกำหนดต่างๆ เช่น มาตรการ EUDR ที่จะเริ่มใช้อย่างเต็มรูปแบบในปลายปี 2567 และมาตรการ CBAM ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2569 เป็นต้น

2.กลุ่มธุรกิจปาล์มน้ำมัน ภายหลังการปรับปรุง ทำให้ผลประกอบการดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเมื่อBoilerตัวใหม่เริ่มเดินเครื่องภายในไตรมาส2/2566จะทำให้บริษัทฯ มีความพร้อมสำหรับไตรมาส3/2566ซึ่งเป็นช่วงพีคของผลผลิตปาล์ม

3.กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนและรับบริหารจัดการการอินทรีย์ โครงการขยายกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพ ระยะที่ 1 จะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 2/2566 ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากโครงการนี้ได้เต็มที่ในไตรมาส3/2566จากการรับกากอินทรีย์เพิ่มขึ้นอีกวันละ 300 ตัน และผลิตก๊าซชีวภาพได้เพิ่มขึ้นอีกวันละ 30,000 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจาก 43 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 64 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ภายในปี 2566 นี้ พร้อมรองรับความต้องการการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น และยังเป็นพลังงานสะอาดที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าจากทั้งภายในและนอกกลุ่มบริษัทฯ อีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามแผนธุรกิจในการขยายธุรกิจผลิตพลังงานทดแทนและรับบริหารจัดการกากอินทรีย์มากขึ้น เพื่อสร้างฐานรายได้ประจำที่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ (Recurring Income)