จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : “ต้นทุนน้ำมันลง-ความต้องการใช้เพิ่ม” กระตุ้นยอดขาย TPLAS ปี 66


23 มิถุนายน 2566
ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับลงอย่างต่อเนื่อง  และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทย กระตุ้นยอดการใช้ผลิตภัณฑ์ของ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994)  หรือ TPLAS ทั้งในกลุ่มพลาสติกและกลุ่มกระดาษบรรจุอาหาร ขณะที่บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 8-10% 
รายงานพิเศษ “ต้นทุนน้ำมันลง-ความต้องการใช.jpg
หลังเผชิญภาวะซบเซาในปี 2563 คาดว่าระหว่างปี 2564-2566 ยอดขายผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ขณะที่ปริมาณส่งออกจะขยายตัว 2.0-3.0% ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและโลก โดยเฉพาะการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ภาคก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีสัดส่วนการใช้พลาสติกรวมกันเกือบ 80% ของผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศ สำหรับปัจจัยท้าทายในช่วง 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบโลกซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของเม็ดพลาสติก ต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก

ปี 2564-2566 ศูนย์วิจัยกรุงศรีคาดว่า ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (IMF คาดเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 5.2% 4.2% และ 3.8% ในปี 2564, 2565 และ 2566 ตามลำดับ) ด้านราคาเม็ดพลาสติกมีแนวโน้มทรงตัวระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบโลก ซึ่ง EA ประเมินราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจนถึงปี 2566 

สำหรับเศรษฐกิจไทยคาคว่าจะฟื้นตัวในช่วง 2.5-4.0% ต่อปี ส่งผลให้อุปสงค์ผลิตภัณฑ์พลาสติกของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเติบโตในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะ อุตสหกรรมบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันเกือบ 80% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ศูนย์วิจัยกรุงศรีคาดว่ายอดขายผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศจะเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี ขณะที่ปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% 6 ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนด้านอุปสงค์ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม
ขณะที่ผลสำรวจจาก Smithers Pira คาดว่าปี 2563-2567 ตลาดบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ย 2.8% ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับประเทศไทย คาดว่าปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะทรงตัวถึงเพิ่มขึ้น 1.0% ต่อปี  โดยอุตสาหกรรมหลายสาขามีแนวโน้มใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง ภาคค้าปลีกและธุรกิจ e-Commerce ขณะที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีผลให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกห่อหุ้มสินค้าเพื่อรักษาความสะอาดเพิ่มขึ้น อาทิ ถุงพลาสติก กระสอบพลาสติก พลาสติกแผ่น และฟิล์มพลาสติก

ขณะเดียวกัน การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทย ก็ทำให้การท่องเที่ยวกับมาขยายตัวมากขึ้น ซึ่งสมาคมโรงแรมไทย ยอมรับว่า ธุรกิจโรงแรมมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี เนื่องจากการท่องเที่ยวไทยยังคงได้รับความนิยม และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาคึกคักตั้งแต่ปลายปี 65 จากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมาย จากการที่รัฐบาลจีนเปิดให้มีการออกมาท่องเที่ยวเร็วกว่ากำหนด โดยในครึ่งปีหลังที่เป็นไฮซีซัน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอีกมาก
          
ส่วนอุปสรรคสำคัญเวลานี้ คือ จำนวนของเที่ยวบินที่จะนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังมีไม่เพียงพอ การออกวีซ่าที่ใช้เวลานานและมีเงื่อนไขมาก ซึ่งหากแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคนได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เพราะเพียงแค่ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วกว่า 10 ล้านคน

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว  กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้คึกคักมากขึ้น ส่งผลดีต่อปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก  ขณะที่ต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ทำให้ต้นทุนอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งเป็นปลายน้ำของปิโตรเคมีปรับลดลง  ส่งผลดีต่อธุรกิจผลิตภัณฑ์พลาสติก  ซึ่ง “อภิรัตน์ ธีระรุจินนท์”  รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994)  หรือ TPLAS  ระบุ แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 8-10% จากปีก่อน  เนื่องจากสถานการณ์ตลาดมีสัญญาณการเติบโตที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา จากนโยบายการเปิดประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มาก

โดยกลยุทธ์ที่จะใช้ดำเนินธุรกิจในปีนี้จะเน้นไปที่การกระตุ้นยอดขายเพิ่ม  การควบคุมต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งมีแผนการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในขั้นตอนการทำงาน เช่น ระบบการส่งข้อมูลอัตโนมัติ ตลอดจนเพิ่มบุคลากรที่มีความสามารถในด้านต่างๆ

"บริษัทฯมีแผนจะรุกตลาดโดยการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และ การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เน้นไปที่กลุ่มตลาดเดิมที่มีอยู่เพื่อเสริมฐานให้แกร่ง ซึ่งเป็นกลุ่มแม่ค้าพ่อค้าตลาดสด Street Food และ ร้านอาหารทั่วไป ขณะเดียวกัน บริษัทฯได้มีการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆที่สามารถนำใช้เพื่อตอบโจทย์ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มเติม รวมไปถึงศึกษาธุรกิจและสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเพื่อดำเนินการพัฒนาธุรกิจต่อไปในอนาคตอีกด้วย" นายอภิรัตน์กล่าว