Wealth Sharing

“ถิรไทย” คว้างาน กฟผ. มูลค่า 1 พันลบ. ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 333.33 MVA 500 KV


13 กรกฎาคม 2566
ถิรไทย หรือ TRT เดินหน้าคว้างานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับคำสั่งซื้อจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 333.33 MVA 500 KV Power Transformer จำนวน 14 เครื่อง โดยใช้ในโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคใต้ตอนล่าง และโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า มูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งยังช่วยลดภาระการนำเข้า และยังสามารถผลิตไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ช่วยลดการขาดดุลการค้าของประเทศได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท

“ถิรไทย” คว้างาน กฟผ. มูลค่า 1 พันลบ.jpg

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาด ของคนไทยเพียงแห่งเดียว เผยว่า ในช่วงกลางปี 2566 นี้ บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในการสั่งซื้อในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 333.33 MVA 500 KV ด้วยสัญญาเลขที่ S100900-3166-TILS-TX-03(R) และ S100905-3166-TIEC-TX-02 ในโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคใต้ตอนล่ง และโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร จำนวน 14 เครื่อง เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของไทย นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่น และเข้มแข็งที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งพัฒนาการผลิตหม้อแปลงของไทยมีความก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้

กฟผ. มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนา และสร้างความมั่นคงทางระบบไฟฟ้าของประเทศ รวมถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของคนไทย ให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง จนมีขีดความสามารถสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ระดับ Extra High Voltage ขนาด 333.33 MVA ระดับแรงดัน 525 kV ลดภาระการนำเข้า และยังสามารถผลิตไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ช่วยลดการขาดดุลการค้าของประเทศได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาทอีกด้วย

นายสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ถิรไทย ได้สั่งสมประสบการณ์เพื่อพัฒนาต่อยอดการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า ขนาด333.33 MVA แรงดัน 525 kV จนได้รับความไว้วางใจ จาก กฟผ. ในการจัดซื้อหม้อแปลง ขนาดและแรงดันดังกล่าว จำนวน 6 เครื่อง ซึ่งได้ติดตั้งใช้งานที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลราชธานี 3 เมื่อปี 2564 เป็นต้นมา และยังคงทำงานได้เป็นอย่างดี

“ขอบคุณ กฟผ. ที่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนใช้หม้อแปลงไฟฟ้าที่ผลิตโดยคนไทย ตามนโยบายของ กฟผ. เสมอมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บริษัทจะได้รับการสนับสนุน สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าของคนไทย ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าของประเทศในอนาคต ตามเจตนารมย์ร่วมกันในการลดการขาดดุลการค้าของประทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ให้มีความ มั่นคง ยั่งยืน ต่อไป” นายสัมพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย
TRT