จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : “ไทย โคโคนัท” ครบวงจรเรื่องมะพร้าว เตรียมระดมทุนบุกตลาดทั่วโลก


31 กรกฎาคม 2566
ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะพร้าวของโลกโตเฉลี่ยปีละ 8.4%  ขณะที่มะพร้าวของไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลก  เปิดโอกาส “ไทย โคโคนัท” ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆที่แปรรูปจากมะพร้าวและผลไม้  เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  นำเงินที่ได้ขยายกำลังการผลิต

รายงานพิเศษ ไทย โคโคนัท.jpg

กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะพร้าวของโลกช่วงปี 2566-2573 น่าจะขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 8.4% เมื่อเทียบกับ ปี 2565 ที่มีมูลค่าประมาณ 20,240 ล้านเหรียญ   โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา มูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะพร้าวในภาพรวมของปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 3.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสินค้ายอดนิยมที่สหรัฐฯ นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมะพร้าว มะพร้าวสด กะทิ มะพร้าวอบแห้ง และมะพร้าวผง  เป็นต้น

เนื่องจากมะพร้าวมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการและสามารถใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนอาหารจากสัตว์ได้ เหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติและกลุ่มผู้บริโภคที่แพ้แลคโตสจากนมวัว จากข้อมูลของ National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases ระบุว่าชาวอเมริกัน ประมาณ 36% ของประชากรทั้งหมด มีปัญหาเรื่องการดูดซึมแลคโตส นอกจากนี้ การที่ชาวอเมริกันหันมาประกอบอาหารรับประทานที่บ้านและกระแสจากสื่อโซเชียลที่เผยแพร่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของนักกีฬาและคนดังต่างๆ ที่หันมาอุปโภคบริโภคผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวมากขึ้น ช่วยสร้างความนิยม และช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคอเมริกันหันมาเลือกซื้อและทดลองบริโภคสินค้าที่มาจากมะพร้าวเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มะพร้าวในกลุ่มสัตว์เลี้ยงก็ได้รับความสนใจ โดยสินค้าบริโภคสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น กระดูกที่ทำจากมะพร้าว มะพร้าวอบแห้งคล้ายชิป  จากข้อมูลของบริษัท Precedence Research ระบุว่าตลาดขนมขบเคี้ยวและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงทั่วโลกปี 2565 มีมูลค่า 37,900 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะมีการขยายตัวประมาณ 12.5% ในช่วงปี 2566-2575 โดยคาดว่าปี 2575 น่าจะมีมูลค่าถึง 123,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดีปี 2565 ครัวเรือนสหรัฐฯ 66% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดมีสัตว์เลี้ยง ดังนั้นการเจาะตลาดสัตว์เลี้ยงจึงเป็นช่องทางที่สนใจของผู้ประกอบการอาหารที่จะเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งในตลาด โดยอาหารว่างและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มาจากธรรมชาติน่าจะมีแนวโน้มการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ทำจากมะพร้าวที่จำหน่ายในสหรัฐฯ มีราคาประมาณ 8-15 เหรียญสหรัฐ/ถุง

จากข้อมูลของบริษัท Globenewswire ระบุว่าตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงในสหรัฐอเมริกา ปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าน่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากชาวอเมริกันรุ่นใหม่ไม่นิยมมีบุตรและนิยมที่จะมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนคู่ใจมากขึ้น โดยกลุ่มมิลเลนเนียลนิยมมีสัตว์เลี้ยงมากที่สุด (33%) รองลงมาคือกลุ่ม GEN X (25%) และเบบี้บูมเมอร์ (24%) ตามลำดับ  ซึ่งอุปสงค์ดังกล่าวน่าจะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ  สนับสนุนการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ บมจ.ไทย โคโคนัท (COCOCO) ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 370 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 25.37% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขาย IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวดธุรกิจ (Sector) อาหารและเครื่องดื่ม โดยมี บริษัท ฟิน พลัส แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
          
ซึ่งบริษัทมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อใช้ขยายกำลังการผลิต ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว (TCOCO), ขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (TAS), ขยายกำลังการผลิตอาหารที่ทำจากพืช (TPF), ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ (Working Capital)

ทั้งนี้ “ไทย โคโคนัท” ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่แปรรูปจากมะพร้าวและผลไม้ เช่น กะทิบรรจุกระป๋อง กะทิบรรจุกล่องยูเอชที (UHT) กะทิพาสเจอร์ไรส์ น้ำมะพร้าวบรรจุกระป๋อง น้ำมะพร้าวกล่องยูเอชที (UHT)  น้ำมะพร้าวพาสเจอรไรส์ ขนมมะพร้าว และอาหารสำเร็จรูป ภายใต้ตราสินค้า Thaicoco, Cocoburi และ Concept P รวมถึงการผลิตสินค้าเพื่อการอุตสาหกรรม 
         
สำหรับ บริษัทย่อยที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกสำหรับสุนัขและแมว อยู่ภายใต้บริษัท ไทย ออซัม จำกัด (TAS) ซึ่งบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 99% โดย TAS รับผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงจากวัตถุดิบคุณภาพสูงที่ได้มาตรฐานสากล โดยมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ มีทโลฟ อาหารตุ๋น สโฮมเมด เนื้อเกล็ดแท้ และปลา เป็นต้น ผลิตและจำหน่ายภายใต้ตราสินค้า ได้แก่ Moochie และ การเป็นผู้ให้บริการตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบ และบรรจุภัณฑ์สำหรับการรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ซึ่งจัดจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โรงงานการผลิตตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี กำลังการผลิต 50,500 ตันต่อปี 
          
ส่วนบริษัทย่อยอีกแห่ง คือ บริษัท ไทย แพลนท์ เบส ฟู้ด จำกัด (TPF) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพจากโปรตีนพืช อยู่ระหว่างการสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักร คาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายสินค้าได้ภายในไตรมาส 2/66 อีกทั้ง บริษัทได้ร่วมทุน 59.99% กับบุคคลภายนอกภายใต้รูปแบบบริษัทร่วมค้า คือ บริษัท จัสท์ไลค์ แอนด์ มอร์ จำกัด (JLM) เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีสและเนยที่ทำจากพืช คาดว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าได้ในประมาณไตรมาส 2/66
         
โดยผลประกอบการในช่วงปี 63-65 บริษัทมีรายได้จากการขาย 3,022.01 ล้านบาท 3,435.89 ล้านบาท และ 3,333.30 ล้านบาท ตามลำดับ กำไรสุทธิ 69.46 ล้านบาท 241.88 ล้านบาท และ 302.22 ล้านบาท ตามลำดับ อัตรากำไรสุทธิ 3.15% 7.95% และ 10.20% ตามลำดับ 
          
ในปี 65 รายได้หลักของบริษัทมาจากผลิตภัณฑ์กะทิในสัดส่วน 76.32% ผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าว 13.15% ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง 6.07% และ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ 3.97% ตลาดหลักของบริษัทอยู่ในสหรัฐ ยุโรป และ เอเชีย (รวมในประเทศไทย) ขณะที่มีการส่งออกไปยังโอเชียเนีย  แอฟริกา และตะวันออกกลาง ด้วยเช่นกัน
         
และบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท ภายหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและการจัดสรรทุนสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท