Wealth Sharing

วงการธนาคารเชื่อกนง.ขึ้นดบ.นโยบาย อีก 1 ครั้ง ปี 66 หยุดที่ 2.50%


03 สิงหาคม 2566
Krungthai COMPASS  และ SCB EIC  คาดกนง.ปรับดบ.นโยบายอีก 0.25%  สิ้นปี 2566 แตะที่ 2.50% หลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2566 และ 2567  และหนุนดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยกลับมาเป็นบวก 

วงการธนาคารเชื่อกนง.ขึ้นดบ.นโยบาย.jpg

Krungthai COMPASS  ระบุว่า เมื่อวานนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  0.25% สู่ระดับ  2.25% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี  เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพ  

ซึ่ง Krungthai COMPASS   คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นสู่ 2.5%  ซึ่งจะเป็นระดับสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น (Terminal rate) ในรอบนี้  สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งในปี 2566 และ 2567 และอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 2% ทำให้มองว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงกว่า 2.25% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก 

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหากปรากฎการณ์เอลนีโญรุนแรง และราคาอาหารโลกที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยอย่างมีนัย อย่างไรก็ตาม การประชุม กนง. ในครั้งหน้าขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจและความชัดเจนทางการเมือง

ขณะที่ SCB EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนกันยายนนี้ สู่ระดับ Terminal rate ที่ 2.5% และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับดังกล่าว

SCB EIC คาดว่า กนง. จะเดินหน้าปรับนโยบายการเงินไทยให้กลับเข้าสู่ระดับปกติ (Monetary policy normalization) ที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ย Neutral rate ของไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ 2.5% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับศักยภาพและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ของ ธปท. อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ การปรับนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ระดับปกติจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ของไทยกลับมาเป็นบวกได้เช่นเดียวกับในช่วงก่อน COVID-19 หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องในช่วงหลัง COVID-19 ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวโดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งจะช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy space) ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง