Wealth Sharing

GPSC จับมือกลุ่มฯ พลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. ปั้นโครงการ “คนมีไฟ” ร่วมติดตั้งโซลาร์ 500 kW


03 สิงหาคม 2566
GPSC ร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. ส่งมอบพลังงานสะอาดภายใต้โครงการ “คนมีไฟ” เป้าหมาย 5 ปี ติดตั้ง 500 กิโลวัตต์ สนับสนุนองค์กรไม่แสวงหากำไรและหน่วยงานภาครัฐ สร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด มุ่งลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือสังคม ร่วมเดินหน้าดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

GPSC จับมือกลุ่มฯ.jpg

นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า GPSC ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดโครงการ “คนมีไฟ” เพื่อขับเคลื่อนพลังงานสะอาดให้กับหน่วยงานที่ต้องการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการส่งมอบพลังงานสะอาด จากโซลาร์เซลล์แบบออนกริด (On-Grid) เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับหน่วยงานรัฐที่มีการดำเนินงานด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงองค์กรที่ไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแต่มีการดำเนินงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 500 กิโลวัตต์ สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ราว 6,900 ตัน
คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 20 ล้านบาท โดยจะเริ่มติดตั้งในปี 2566 จำนวน 100 กิโลวัตต์ 

การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดระดับชุมชน และหน่วยงานรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชนโดยรอบหน่วยงาน ด้วยการใช้งบประมาณจากส่วนต่างของค่าไฟฟ้าที่สามารถลดลงภายหลังจากการติดตั้งระบบดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของ GPSC และกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่จะให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำส่วนลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ไปเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

โครงการดังกล่าว จะเปิดรับสมัครหน่วยงานที่สนใจผ่านช่องทาง Email: GPSC.csr@gmail.com หรือ Tel/Line-id: 097-150-5161 ระหว่างวันที่ 1 - 31 สิงหาคม 2566 นี้ โดยจะทำการคัดเลือกระหว่าง 1-15 กันยายน 2566 หลังจากนั้นจะมีการลงพื้นที่สำรวจหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือก และคาดว่าจะสามารถติดตั้งได้ภายในเดือนธันวาคม 2566 

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของในระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้ทำการติดตั้ง โดยมีเงื่อนไขการทำสัญญาเพื่อดำเนินโครงการร่วมกัน พร้อมจัดตั้งกองทุนค่าไฟฟ้า รวมถึงแนวทางการดำเนินโครงการ ทั้งในรูปแบบการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบำรุงรักษาเพื่อให้มีการดูแลรักษาระบบฯ ให้มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าตลอดอายุการใช้งาน และยังเป็นโมเดลความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชุมชนด้านการอนุรักษ์พลังงาน และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ภาคชุมชนและหน่วยงานรัฐช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะนำไปสู่การลดภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน