Wealth Sharing

CIMB Thai ครึ่งแรกปี66สินเชื่อตปท. แตะ 6.6 หมื่นล้านบาท โตกว่า 70%


08 สิงหาคม 2566
CIMB Thai บรรลุเป้าหมาย "ASEAN Reach" ตั้งโต๊ะให้คำปรึกษาพาลูกค้าบุกอาเซียน  ครึ่งปีแรกสินเชื่อต่างประเทศเติบโตกว่า 70%  มียอดสินเชื่อ 6.6 หมื่นล้านบาท          
 
CIMB Thai ครึ่งแรกปี 66 สินเชื่อตปท.jpg

นายวุธว์  ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันอาเซียน ซึ่งตรงกับวันที่ 8 เดือน 8 ของทุกปี เกี่ยวกับความคืบหน้าของยุทธศาสตร์ ‘Digital-led Bank with ASEAN Reach’  ซึ่งในส่วนของสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยให้กับลูกค้าที่ขยายธุรกิจในต่างประเทศ (offshore loan outstanding)   ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มียอดสินเชื่อ 6.6 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตกว่า  70% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ที่มียอดสินเชื่อ 3.8 หมื่นล้านบาท 

ซึ่งธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีเป้าหมายชัดเจนในการเป็นแบงก์ที่พร้อมจะพาลูกค้าไปเติบโตอาเซียน  จากการเป็นผู้ให้คำปรึกษาและเป็นตัวกลางทางการเงิน พบว่า บริษัทของไทยที่มีแผนชัดเจนจะไปเปิดตลาดในต่างประเทศ มีหลากหลายภาคธุรกิจ ได้แก่ พลังงาน ปิโตรเคมี ค้าปลีก อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป เป็นต้น โดยรูปแบบของการออกไปขยายตลาด มีครบทุกรูปแบบ ทั้งการลงทุนขยายกิจการ การซื้อกิจการ และการควบรวมกิจการ  

โดยประเทศปลายทางในภูมิภาคอาเซียนที่บริษัทไทยนิยมไปเปิดตลาด ได้แก่ ประเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซียและสิงคโปร์  ประเทศอินโดนีเซีย มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน จำนวน 275 ล้านคน เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงมาก ภาคธุรกิจดาวรุ่งคือ ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป เช่นเดียวกับเวียดนามมีจำนวนประชากรสูงเกือบ 100 ล้านคน และมีการเติบโตของ GDP ในปี 2565 สูงถึง 8% จึงเป็นที่นิยมในการเป็นฐานการผลิต ที่ตั้งโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม ด้านกัมพูชา มีโอกาสขยายตลาดด้านอาหารและเครื่องดื่ม อีกทั้งคนกัมพูชานิยมบริโภคสินค้าไทย ขณะที่ มาเลเซีย เป็นประเทศเพื่อนบ้าน มีโอกาสเข้าถึงง่าย และมีตลาดของอาหารฮาลาล ส่วน สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางด้านการค้าขาย หรือ Trading Hub  

นอกเหนือจากกลุ่มประเทศอาเซียน ยังมีประเทศจีนเป็นอีกประเทศที่เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงอย่างที่ทุกคนทราบกัน กลุ่มซีไอเอ็มบีมีเครือข่ายสาขาทั้งใน เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง  ทางธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย นอกจากโฟกัสตลาดหลักในอาเซียน ยังพร้อมพาลูกค้าไปเปิดตลาด beyond ASEAN อีกด้วย  

จากการทำงานเป็นสะพานเชื่อมพาลูกค้าไปขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่องหลายปี พบว่า อุปสรรคที่ทำให้บริษัทไม่ออกไปเปิดตลาดเพราะ 1. ด้านกฎระเบียบกฏเกณฑ์ 2. ความเสี่ยงทางการเมืองและนโยบายของประเทศที่ไปลงทุน 3. การแข่งขันในตลาดของแต่ละประเทศ 4. ด้านวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น 5. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและธุรกรรมการเงิน 

สำหรับบริษัทที่ก้าวข้ามขีดจำกัดตรงนี้ได้ การออกไปเปิดตลาดต่างประเทศ ในระยะเวลาที่เข้าที่แล้ว พบว่าช่วยให้บริษัทเติบโตก้าวกระโดด เปิดตลาดใหม่ ขยายฐานลูกค้าใหม่ ได้พันธมิตรรายใหม่ สามารถเพิ่มรายได้จากการขยายฐานธุรกิจให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่ 20% ถึงกว่า 100% ในระยะยาว ที่สำคัญคือเป็นการกระจายความเสี่ยงในด้านการมีตลาดหลากหลายประเทศ และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน

“บริษัทหรือผู้ประกอบการที่สนใจขยายธุรกิจในต่างประเทศ เริ่มจากการหาจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ คู่กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หลังจากนั้น เข้ามาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ที่มี Know-how และ Network ทำงานประสานใกล้ชิดกับคนท้องถิ่นที่รู้จักตลาดเป็นอย่างดี ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งโต๊ะ ASEAN Desk ให้คำแนะนำและทำงานร่วมกับเครือข่ายแข็งแกร่งของกลุ่มซีไอเอ็มบี พร้อมส่งต่อลูกค้าขยายธุรกิจข้ามประเทศ ด้วย ASEAN Total Solutions โดยครึ่งแรกปี 2566 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า เป็นตัวกลางพาลูกค้าขยายตลาดทุกรูปแบบ เฉพาะธุรกรรมสินเชื่อการลงทุนในต่างประเทศเติบโตไปแล้วกว่า 70% เทียบกับปลายปีที่แล้วคิดเป็นมูลค่า 6.6 หมื่นล้านบาท”