Wealth Sharing

PRINC เปิดงบ Q2/66 โกยรายได้ 1,285 ลบ. ปักหมุด ‘มุกดาหาร’ ตั้งรพ.แห่งใหม่


10 สิงหาคม 2566
บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจสุขภาพ ในนามโรงพยาบาล ‘เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์’ รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2566ผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุ รายได้รวม 1,285 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.4% (ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19) ทำให้ผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2566 มีรายได้รวม 2,495 ล้านบาท แม้จะมีรายได้จากกลุ่มโควิด-19 ที่ลดลง แต่ในภาพรวมรายได้ผู้ป่วยทั่วไปไม่รวมโควิด-19 ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่จำนวนผู้รับบริการและรายได้ เป็นผลมาจากการเพิ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลต่างๆ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และการขยายฐานผู้รับบริการ โดยเฉพาะในกลุ่มประกันที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยชาวต่างชาติ ในโรงพยาบาลแถบอีสาน เพิ่มขึ้นมากถึง 548.8%

PRINC เปิดงบ Q2 66 โกยรายได้ 1,285 ลบ.jpg

ทั้งนี้บริษัทได้ประกาศจัดตั้งบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ - มุกดาหาร จำกัด เพื่อรองรับแผนปักหมุดสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร มูลค่าเงินลงทุน 726.5 ล้านบาท โดยแผนงานสำคัญคือ เป็นโรงพยาบาลเชี่ยวชาญเฉพาะทางและดูแลทั้งในไทยและตลาดต่างชาติ โดยจะเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 15 ใน 12 จังหวัด และยังมีการจัดตั้งบริษัท พริ้นซิเพิล เน็กส์ จำกัด (PRINC NEXT) เพื่อขยายการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเฮลท์แคร์ และ/หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ มูลค่าเงินลงทุนรวม 96 ล้านบาท โดยแนวทางของธุรกิจคือ เน้นความรวดเร็วในการเข้าถึงธุรกิจที่มีศักยภาพ ธุรกิจใหม่ที่เติบโตเร็ว เพื่อสอบคล้องกับพัฒนาการการเกิดและเติบโตของธุรกิจยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและแปลกใหม่ ทำให้ Model ธุรกิจในด้านการเติบโตของ PRINC คือ ธุรกิจหลักด้านโรงพยาบาล และธุรกิจใหม่ที่ทันสมัย เพื่อให้มีการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยยังคงความเชื่อมั่นการเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี

นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ระบุในกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล หากไม่นับรวมผลจากโควิด-19 พบว่าภาพรวมผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น มีอัตราเติบโตของผู้รับบริการที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าก่อนช่วงโควิด-19 โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 66 มีผู้เข้ารับบริการโรงพยาบาลต่อวัน (Campus Visit per Day) 2,282 รายต่อวัน และจำนวนผู้ป่วยครองเตียงเฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Census หรือ ADC) ที่ 527 รายต่อวัน ทำสถิติสูงที่สุดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมครึ่งปีหลัง ของปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวสดใส 

“ครึ่งปีหลัง ปี 66 ยังมีปัจจัยที่ท้าทาย ทั้งภาพรวม เศรษฐกิจและการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาล นโยบายสาธารณสุข ต้นทุนด้านพลังงาน และทิศทางการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทำให้บริษัทมีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับความต้องการรักษาพยาบาลในพื้นที่ โดยเฉพาะแผนการลงทุนศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง รักษาโรคยากซับซ้อนในโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะใน 4 สาขาสำคัญได้แก่ หัวใจ กระดูก สมอง และมะเร็ง (Heart, Bone, Brain, Cancer)  เช่น โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ขยายการให้บริการโรคยากซับซ้อน ได้แก่ การผ่าตัดหัวใจ, หัตถการสวนหัวใจ (CAG) , การผ่าตัดส่องกล้องกระดูกสันหลังรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้น, การผ่าตัดสมองรักษาเนื้องอกในสมองการฟอกไตแบบออนไลน์ (OL-HDF), เป็นต้น

นอกจากนี้ โรงพยาบาลในเครือฯ เช่น โรงพยาบาลพริ้นซ์ ลำพูน ร่วมกับภาครัฐให้บริการโรคยากซับซ้อนเช่น การผ่าตัดข้อเข่า, ผ่าต้อกระจก, การผ่าเส้นเลือดสำหรับฟอกไต (AVF) ครอบคลุมสิทธิบัตรทอง และ/หรือ สิทธิประกันสังคม เป็นต้น เพื่อร่วมดูแลคนในพื้นที่โดยเฉพาะเมืองรองที่โรงพยาบาลตั้งอยู่ ตามปณิธานขององค์กรที่มุ่งสร้างคนที่มีจิตใจของความเป็นผู้ให้ ร่วมดูแลคน ชุมชน และสังคมต่อไป” 
นพ.กฤตวิทย์ กล่าว

ปัจจุบัน โรงพยาบาลเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 14 แห่งใน 11 จังหวัด ประกอบด้วย โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ลำพูน โรงพยาบาลศิริเวช ลำพูน โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 โรงพยาบาล พริ้นซ์ปากน้ำโพ 2 โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานีโรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สกลนคร โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ ชุมพร โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิษณุโลก และล่าสุดโรงพยาบาลรวมแพทย์ พิษณุโลก