Wealth Sharing

STA โดนหางเลขเอลนีโญ กดดันรายได้-กำไร ไตรมาส 2 หัวทิ่ม


11 สิงหาคม 2566
บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (“STA” หรือ “บริษัทฯ”) ได้ดำเนินการพัฒนา Sri Trang Friends Platform เพื่อตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาวัตถุดิบ รองรับการบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป EUDR ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) กฎหมายดังกล่าวจะเริ่มบังคับให้ภาคธุรกิจดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในช่วงปี 2567 ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 ชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฤดูกาลปิดกรีดของยางธรรมชาติยาวนานกว่าปกติ ส่งผลให้วัตถุดิบออกมาล่าช้ากว่าที่คาด

STA โดนหางเลขเอลนีโญ.jpg

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ผู้นำในธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ มองว่ายังคงมีหลายปัจจัยที่ต้องจับตามองในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งในส่วนของดีมานด์ยางธรรมชาติในตลาดโลกจากกลุ่มประเทศ Non China (ไม่รวมจีน) และจีน (China) ซึ่งได้ระบายระดับสต๊อกมาตั้งแต่ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ และระดับสต๊อกค่อยๆ ทยอยลดลง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงจีน อย่างไรก็ดี ในด้านของซัพพลาย เกษตรกรชาวสวนยางเริ่มทยอยกลับมาเปิดกรีดยางได้แล้วในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมรองรับสหภาพยุโรปที่คาดว่าจะเริ่มการบังคับใช้กฏเกณฑ์ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ภายในปี 2567 ที่มีสาระสำคัญคือจะมีการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบจะต้องมาจากพื้นที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าและไม่รุกล้ำพื้นที่ป่าสงวน โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้พัฒนา Sri Trang Friends Platform และฟังก์ชันให้รองรับการตรวจสอบย้อนหลังแหล่งที่มาของการเพาะปลูกยาง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มโอกาสการขายยางธรรมชาติแก่คู่ค้า โดยเฉพาะผู้ผลิตยางล้อที่ส่งออกไปยังแถบยุโรป รวมถึงจะเป็นโอกาสขยายตลาดในอนาคตหากมีการบังคับใช้กฏเกณฑ์ดังกล่าวในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย 

กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร STA กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 (เมษายน-มิถุนายน) มีรายได้จากการขายและบริการ 21,227.0 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 110.0 ล้านบาท ชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ทำให้ปริมาณน้ำฝนในปีนี้ลดลง ส่งผลให้เกษตรกรมีระยะเวลาปิดกรีดยางเป็นนานกว่าปกติอีก 1.5-2 เดือน จึงทำให้ซัพพลายวัตถุดิบลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เกิดปรากฏการณ์ “ลานีญา” ที่มีฝนตกมากกว่าปกติซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตมากขึ้น ด้วยปัจจัยกดดันดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องบริหารอัตราการใช้กำลังการผลิตให้เหมาะสม เพื่อบริหารวัตถุดิบในเพียงพอสำหรับทั้งในไตรมาสนี้และไตรมาสถัดไป 

ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปีนี้ บริษัทฯ มีปริมาณการขายยางธรรมชาติทุกประเภทรวม 744,200 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามเนื่องจากราคาขายเฉลี่ยไตรมาส 2/2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มีรายได้จากการขายและให้บริการงวด 6 เดือนแรกของปีนี้รวม 45,653.3 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 397.9 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นรายได้จากการขายและบริการในไตรมาส 2/2566 จำนวน 21,227.0 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 110.0 ล้านบาท
STA