Wealth Sharing
TKN โชว์ Q2/66 โตแกร่ง กำไรพุ่ง 175% จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.21 บ./หุ้น
11 สิงหาคม 2566
บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN โชว์ผลงานไตรมาส 2/66 เติบโตแข็งแกร่ง ทำรายได้จากการขาย 1,304 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% และมีกำไรสุทธิ 195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 175 % ดันผลงานงวด 6 เดือนแรกปี 66 มีรายได้จากการขาย 2,548 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 361 ล้านบาท รับผลดีจากการทำ Product Mix ตลาดต่างประเทศจีน-สหรัฐโตโดดเด่น มั่นใจยอดขายปีนี้เติบโต ตามเป้า ฟากบอร์ดประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.21 บาทต่อหุ้น เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 24 สิงหาคม 2566
นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสาหร่ายทะเลแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า “เถ้าแก่น้อย” รวมถึงขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เปิดเผยถึงภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2566 (เมษายน - มิถุนายน) บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 1,304 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 958 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 175% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 71 ล้านบาท โดยสามารถทำอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) อยู่ในระดับ 15% นับเป็นผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง
ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2566) มีรายได้จากการขาย 2,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้จากการขาย 1,926 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 361 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 170% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 134 ล้านบาท ถือว่าเติบโตได้เกินเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย (Product Mix) ด้วยการเพิ่มแบบการอบเข้ามา ทำให้มีมาร์จิ้นสูงขึ้น 2.) การสร้างยอดขายในตลาดต่างประเทศ (Sale Export) ได้มากขึ้น ซึ่งตลาดที่เติบโตได้ดี คือ ประเทศจีนที่ยอดขายเทิร์นอะราวด์ กลับมาใกล้เคียงก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 และสหรัฐอเมริกาที่มียอดคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นหลังจากบริษัทฯ ได้เข้าไปเจาะตลาดตลาด Mainstream
ส่วนยอดขายตลาดในประเทศยังคงทรงตัว หลังจากได้เปลี่ยนแปลงตัวแทนจำหน่ายสินค้า (Distributor) ไปในช่วงที่ผ่านมา โดยแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่นกว่า 14 รายทั่วประเทศ เพื่อกระจายสินค้าในช่องทางร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ปัจจุบันเริ่มมียอดขายเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปลายไตรมาส 2/2566 และคาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนยอดขายของ TKN ได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทฯ ได้กลับมาเปิดร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ (Taokaenoi Land) ในแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ สาขาเอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟร้อนท์ (Asiatique The Riverfront) และนำสินค้าเข้าไปขายแบบ Shop in Shop ร่วมกับเดอะมอลล์ สกายพอร์ตภายในสนามบินดอนเมือง รองรับการกลับมาของกลุ่มนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มมากขึ้นโดยพิจารณาจากโลเคชั่น และทำเลเป็นหลัก
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาจากงบเฉพาะกิจการและอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวดผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2566) ในอัตราหุ้นละ 0.21 บาท ซึ่งกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 6 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TKN กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี บริษัทฯ จะมุ่งมั่นดำเนินกลยุทธ์ "3GO" อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ "GO Firm" คือการปรับองค์กรให้กระชับ (Lean) คล่องตัวและรวดเร็วขึ้น เพื่อลดต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษากำไรสุทธิ (Bottom Line) ให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ ยังผลักดันกลยุทธ์ "GO Broad" ด้วยการขยายฐานธุรกิจให้กว้างขึ้นและมีคุณค่า ผ่านการพัฒนาสินค้านวัตกรรมกลุ่มใหม่ๆ (Innovation Food) เข้าสู่ตลาด รวมถึงเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามากขึ้น เพื่อไปสู่ "Go Global" คือการขยายตลาดในต่างประเทศที่มีศักยภาพ ผลักดันยอดขายให้เติบโตต่อเนื่อง และด้วยกลยุทธ์การบริหารจัดการภายใต้ 3GO ของบริษัทฯ ส่งผลให้ล่าสุด TKN ได้รับรางวัล Thailand’s Best Managed Companies หรือ บริษัทที่มีการบริหารจัดการดีที่สุดของประเทศไทยประจำปี 2566 จาก Deloitte (ดีลอยท์ ประเทศไทย) นับเป็นเครื่องสะท้อนถึงความสำเร็จของกลยุทธ์ที่ได้ดำเนินการมาเป็นอย่างดี
บริษัทฯ ยังคงมั่นใจผลการดำเนินงานในปี 2566 คาดว่าจะทำรายได้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้ที่ผ่านมาจะทำผลงานเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายก็ตาม ควบคู่กับการมุ่งเพิ่มความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นที่ดีขึ้น โดยเน้นการทำ Productivity เพื่อลดต้นทุน ทำกำไรในทุกช่องทางการขาย และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีกำไรขั้นต้นที่ดี เพื่อเพิ่มอัตราการทำกำไรขั้นต้นโดยรวมให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม