จับประเด็นหุ้นเด่น
รายงานพิเศษ : เอเปค ร่วมลดโลกร้อนเพิ่มสัดส่วน ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดหนุนธุรกิจ SSP
18 สิงหาคม 2566
รัฐมนตรีพลังงานเอเปค รับมือภาวะโลกร้อน เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงปลอดคาร์บอน และแหล่งเชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ให้ได้ 70% ภายในปี 2035 หนุนธุรกิจ บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) CEO ประกาศเดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค (APEC Energy Ministers' Statement) โดยการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "Creating a Resilient and Sustainable Future for All" ซึ่งเป็นเวทีในการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของรัฐมนตรีพลังงาน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ในการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ การแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันและอนาคต การรับมือกับความท้าทายต่อความมั่นคงด้านพลังงาน การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
สำหรับร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค (APEC Energy Ministers' Statement) ครั้งที่ 13 นี้ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ในการกำหนดทิศทางและวางกรอบนโยบายความร่วมมือด้านพลังงานร่วมกัน ซึ่งมีความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนความร่วมมือตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green Economy: BCG) และวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) ที่มุ่งเน้น "การเปิดกว้าง มีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีสันติภาพ"
ทั้งนี้ เพื่อให้เขตเศรษฐกิจเอเปค สามารถบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานของเอเปค (APEC Energy Goals) ได้แก่
1.เป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 2 เท่าภายในปี ค.ศ.2030
2.เป้าหมายการลดค่าความเข้มของการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลง 45% ภายในปี ค.ศ.2035 เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality
3.เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และพลังงานที่มีความยั่งยืนร่วมกัน
การประชุมครั้งนี้ จะเสนอให้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงปลอดคาร์บอน และแหล่งเชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ประมาณ 70% ภายในปี ค.ศ.2035 และร่วมกันลดการปล่อยมีเทน อย่างน้อย 50% จากภาคพลังงานฟอสซิลภายในปี ค.ศ.2030 (เมื่อเทียบกับปี ค.ศ.2020) โดยลดการปล่อยมีเทนจากกระบวนการผลิตน้ำมันและก๊าซ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคถ่านหิน
ความมั่นคงด้านพลังงานและการสนับสนุนการผลิตพลังงานสะอาด สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) ซึ่ง “วรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุภาพรวมการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯยังคงเดินหน้ามองหาโอกาสเพื่อเข้าไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเวียดนามตามแผนพัฒนาพลังงานPDP8รวมไปถึงการใช้กลยุทธ์ในการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาปิดดีลเพิ่มเติม จะช่วยสนับสนุนทำให้พอร์ตกำลังผลิตเติบโตเป็นเท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้าแตะ 500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 241 เมกะวัตต์
สำหรับโครงการในปัจจุบัน บริษัทได้เริ่มก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์LEO2 ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 22 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2568และในเดือน ก.ค. 66
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทย่อย Sermsang International (Taiwan) Co., Ltd. ในประเทศไต้หวัน ด้วยทุนจดทะเบียน 50.0 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งการเข้าไปจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศไต้หวันในครั้งนี้ เกิดจากการมองเห็นศักยภาพและโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงานทดแทนในอนาคต รวมไปถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการเข้าไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม มองโกเลีย และอินโดนีเซีย ล้วนเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จและสามารถสร้างรายได้ในระดับที่ดีมาโดยตลอด การลงทุนครั้งนี้จึงเป็นการสนับสนุนผลงานในอนาคตให้เติบโตได้แบบก้าวกระโดด