จับประเด็นหุ้นเด่น

สัมภาษณ์พิเศษ : เปิดใจ “สารัชต์ รัตนาภรณ์” ผู้นำ Card X เรือธง SCBX


22 สิงหาคม 2566
ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งเป้าให้ธุรกิจบัตรเครดิต หรือCard X เป็นเรือธงในการสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม ซึ่งกลยุทธ์ และแนวทางการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร  ไปติดตามการสัมภาษณ์  “สารัชต์ รัตนาภรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด  บริษัทในกลุ่ม บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCBX)  
สัมภาษณ์พิเศษ เปิดใจ  สารัชต์  รัตนาภรณ์  ผู.jpg

สาเหตุที่แยกบริษัทออกจากธนาคารไทยพาณิชย์
มองว่าธุรกิจนี้ ถ้าเราสามารถบริหารได้ดีจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างสูงกว่าการอยู่กับธนาคาร    เนื่องจากธุรกิจนี้ในเชิง ROE คู่แข่ง  ยังทำกำไรได้ค่อนข้างดีประมาณ 20% ขณะที่ถ้าอยู่ในแบงก์จะทำได้ประมาณ 10%  ซึ่งการทำให้ ROE ไปถึง 20% ได้  จะต้องไม่อยู่ในแบงก์ เพราะแบงก์จะทำธุรกิจที่ Low Risk  Low Return  และธุรกิจที่ค่อนข้าง  Stable   เช่น ธุรกิจลูกค้ารายใหญ่   SME   หรือ สินเชื่อบ้าน 

แต่ถ้าอะไรที่เป็น Gen 2 หรือธุรกิจที่มีความเสี่ยง  การทำธุรกิจนอกแบงก์จะดีกว่า   และเรามีการบริหารจัดการที่คล่องตัว  ยืดหยุ่น  จึงจำเป็นต้องแยกธุรกิจนี้มาที่ Card X และสร้างวิธีการบริหารจัดการใหม่  ซึ่งที่ผ่านมา โจทย์หลักของเราคือ ในเชิงรายได้  ค่าใช้จ่าย  เราสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในเรื่องของ Top line  ที่ยังเติบโตต่อเนื่องประมาณ 7%  

แต่สิ่งที่หนึ่งที่เราคิดว่าในอดีตตอนที่อยู่กับแบงก์ คือการบริหารสินเชื่อให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม   ซึ่งในอดีต ยังไม่ยืดหยุ่นพอ  และในวันนี้เรากำลังอยู่ในช่วงการสร้างบ้านใหม่  

แนวทางการสร้างบ้านใหม่
อย่างแรก คือการวางระบบใหม่   ซึ่งเราจะเน้นการใช้เทคโนโลยีในการผลักดันการลงระบบใหม่ ซึ่งเป็น Cloud Native  Infrastructure   รวมถึง AI  โดยเราใช้เงินประมาณ 2,000  ล้านบาท ในการลงเทคโนโลยีใหม่หมด  ทำให้เราสามารถใช้ Data  Analytic  แบบเรียลไทม์  การประมวลข้อมูลมาก  จะสามารถเชื่อมต่อได้ดีขึ้น 
2. การปรับเปลี่ยนขีดความสามารถในการบริหารหนี้เสีย  การจัดทำ Monitor   จะสอดคล้องกับการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ด้วย    

งบประมาณในการลงทุนระบบ 
บริษัทตั้งงบประมาณในการลงทุนไว้ 2,000  ล้านบาท  ซึ่งได้นำไปใช้ลงทุนตั้งแต่ตั้งบริษัท หรือประมาณปีกว่า  ซึ่งตอนนี้เป็นช่วงของการขึ้นระบบสินเชื่อบุคคล   เราโอนลูกค้ามาแล้วตั้งแต่เดือน เม.ย. และกำลังรอระบบเครดิต การ์ด  ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่า เพราะมีหลายฟีเจอร์  ภายในปีนี้หรือกลางปีหน้า  เราหวังว่าจะโอนลูกค้ามาสู่ระบบใหม่ได้ 

ลูกค้าของบริษัท  เครดิตการ์ด ประมาณ 2,000,000  ราย  ส่วน Speedy Cash   และ Speedy Loan  รวมกันประมาณ 800,000  ราย    

ระบบที่เราลงทุน 
เราคิดว่าเป็นระบบที่มีความทันสมัยที่สุด  และ เป็น 100% Cloud Base   สามารถนำเรื่องของเทคโนโลยีมาApply  ได้ ทั้ง AI    และ Digital Platform   หรือการเชื่อมต่อกับพันธมิตรได้รวดเร็ว

การคาดหวังหลังลงระบบเสร็จสมบูรณ์ 
บริษัทหวังว่า  หลังจากที่ระบบสามารถทำงานได้สมบูรณ์แบบจะทำให้เราสามารถคุมหนี้เสียในพอร์ทของบริษัทได้ดีขึ้น และทำให้บริษัทสามารถปล่อยเงินกู้ได้มากขึ้น   โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน

แผนการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีจากนี้
ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ท้าทาย   และใช้เวลาไปกับการวางระบบ  การลงระบบใหม่ และการโอนลูกค้า   ซึ่งปี 2024  ยังเป็นปีที่จะเน้นเรื่องการสร้างบ้าน   และปี 2025  น่าจะเริ่มเห็นผลประกอบการที่ดี  ทั้งกำไร และรายได้  เข้าใกล้กับสิ่งที่กลุ่มคาดหวัง  และหวังว่าเราอาจจะสามารถเป็นเรือธงได้ ในปี 2025-2026  

การเป็นเรือธงต้องมีผลงานอย่างไร
เราต้องเป็นบริษัทที่มี ROE 18-20%  ภายในปี 2025-2026   จากปัจจุบันที่ยังไม่ถึง 10%  โดยการสร้างกำไรจากรายได้ซึ่งค่อนข้างแข็งแรง  เติบโตตามเป้า  ขณะที่รายจ่ายหลังลงระบบเสร็จเราน่าจะควบคุมได้  โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้เสีย  ซึ่งหวังว่าการเปลี่ยนขบวนการทำงาน จะทำให้ค่าใช้จ่าย Credit Cost  ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3  ปีข้างหน้า   NPL  อยู่ประมาณ 2-3% 

ภายในปี 2566 นี้ Card X จะมีบริการที่เปิดตัวใหม่อะไรบ้าง 
ผลิตภัณฑ์ที่จะเปิดตัวใหม่จะเน้นในการช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้า เช่นการร่วมมือกับ บสย. เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้น  หรือการพัฒนา mobile Banking  และช่องทาง Payment ต่างๆ   เพื่อให้ร้านค้าทำธุรกิจได้รวดเร็วและง่ายขึ้น 

ประเมินผลกระทบการปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของธปท.
สำหรับผลกระทบจากการปรับอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ (Minimum Payment) จาก 5% เป็น 8% ในปี 2567 ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งอาจจะมีลูกค้าบางส่วนที่ชำระได้ และมีลูกค้าบางส่วนที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้


ซึ่งบริษัทจะมีโปรแกรม ช่วยเหลือลูกค้าที่อาจได้รับผลกระทบ แต่การช่วยเหลือจะพิจารณาช่วยในกลุ่มที่สามารถชำระได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้  แต่ในกลุ่มที่คาดว่าช่วยแล้วยังไม่สามารถชำระได้อาจจะต้องปรับเป็นกลุ่มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพราะหากช่วยต่อไปจะกลายเป็นกลุ่มหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt)


ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่เข้าข่ายชำระขั้นต่ำ 5% มีอยู่ประมาณ 160,000 ราย หรือคิดเป็นประมาณ 8% ของฐานลูกค้าที่มีอยู่ 2 ล้านราย  ขณะที่ตัวเลขลูกค้าที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรัง (PD) ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลตามนิยาม ธปท.ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน มีสัดส่วนไม่ถึง 5% เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้เกิน 2 หมื่นบาท เพราะส่วนหนึ่งมาจากฐานลูกค้าธนาคาร ซึ่งรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทจะอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์)