จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : กยท.วางมาตรฐานผลิตยางไม่รุกป่า หนุนธุรกิจ TEGH ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม


23 สิงหาคม 2566
กยท.วางยุทธศาสตร์พัฒนามาตรฐานผลผลิตยางและผลิตภัณฑ์ยาง ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของผลผลิตที่ต้องไม่บุกรุกป่า และการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม  หนุนธุรกิจ บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH) ที่เตรียมรับรองมาตรการ EUDR  

รายงานพิเศษ TEGH.jpg

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท  ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุ ยุทธศาสตร์สำคัญในปี 2567 จะเน้นการเพิ่มขีดความสามารถด้านแข่งขัน โดยการพัฒนามาตรฐานผลผลิตยางและผลิตภัณฑ์ยาง ตลอดจนการจัดการระบบข้อมูล เพื่อสนับสนุนกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตยางพารา (Traceability) ที่ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของผลผลิตที่จะต้องไม่ได้มาจากพื้นที่บุกรุกป่า และการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมของประเทศผู้ใช้ยาง  

ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้า ควบคู่ไปกับการผลักดันสินค้าในกลุ่มยางพาราให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกทางด้วยโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต
  
กยท.ยังกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานโดยมุ่งพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรด้วยโครงการ Smart Farmer ที่สอดคล้องกับการดำเนินงานมาตรการ R3I ของ กยท. คือ Reduce Cost (ลดต้นทุนการผลิต) Increase Yield (เพิ่มปริมาณผลผลิต) Increase Income (เพิ่มรายได้) และ Increase Value (เพิ่มมูลค่าผลผลิต) พร้อมยกระดับฐานรากด้วย BCG Model โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสวนยางพารา

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวของกยท.สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH)  “สินีนุช โกกนุทาภรณ์” กรรมการผู้จัดการ  ระบุกลยุทธ์การดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทเร่งเตรียมการรับรองมาตรการของประเทศในยุโรป   เช่น มาตรการ EUDR ที่จะเริ่มใช้อย่างเต็มรูปแบบในปลายปี 2567 และมาตรการ CBAM ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2569  เป็นต้น  ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ยางพาราจากไทยที่จะส่งไปยุโรป  รวมถึงดำเนินการในเรื่องของ  International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) เพื่อรองรับมาตรฐานน้ำมันที่ใช้กับอุตสาหกรรมเครื่องบินในอนาคต  ซึ่งประเทศไทยได้มีการประกาศตัวไปแล้วว่าจะเป็น Hub Sustainable Aviation Fuel (SAF)

ซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก  เนื่องจากราคายางพาราน่าจะฟื้นตัวหลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/66 เมื่อปริมาณการสต็อกยางขนาดใหญ่ในประเทศจีนลดลงมาอย่างต่อเนื่อง  ทำให้คาดว่าจีนจะกลับมาเพิ่มสต็อกยางในช่วงครึ่งปีหลัง 

ขณะที่ในปัจจุบันก็เริ่มเห็นตัวเลขผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขยายการลงทุนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงผู้ผลิตยางล้อที่ตามมาด้วย มองว่าจะหนุนความต้องการยางแท่งให้ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งบริษัทยังเดินหน้าเจาะตลาดอินเดียอย่างต่อเนื่องตามความต้องการผลิตรถยนต์ที่มากขึ้นด้วย
         
ส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังความต้องการน้ำมันปาล์มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันดอกทานตะวันสูงขึ้นจากปัญหา Black Sea Grain Initiatives ที่จะให้การขนส่งธัญพืชจากยูเครนออกสู่ตลาดโลกลดน้อยลง ประกอบกับปัญหาของเอลนีโญก็จะกระทบต่อการผลิตในสหรัฐและอาร์เจนตินา
         
สำหรับในประเทศไทยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จากครึ่งปีแรกที่ผ่านมาผลปาล์มสดก็ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว และในครึ่งปีหลังก็จะเป็นช่วงที่ผลปาล์มออกมากมาก น่าจะทำให้ส่วนต่างราคาน้ำมันปาล์ม (Spread) ดีขึ้น 
                    
ด้านธุรกิจพลังงานทดแทนฯ โครงการขยายกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพ ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 3/66 ซึ่งบริษัทฯ ก็มีแผนการลงทุนในเฟสถัดๆไป