จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : PJW ผลงานโตก้าวกระโดด เข้า “ดัชนี FTSE Micro Cap-อุตฯยานยนต์ฟื้น”


06 กันยายน 2566
ผลงาน บมจ.ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) ปีนี้กลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด สะท้อนจากการเข้าคำนวณในดัชนี FTSE Micro Cap  และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง หนุนรายได้จากการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานยนต์ของบริษัทเติบโตต่อเนื่อง

รายงานพิเศษ PJW.jpg

บล.ทิสโก้ระบุว่า FTSE ประกาศทบทวนดัชนีรายไตรมาส มีผลบังคับใช้ ณ ราคาปิดวันที่ 15 ก.ย. โดยในกลุ่มของดัชนี FTSE Micro Cap ซึ่งเป็นดัชนีที่นักลงทุนสถาบัน และต่างชาติใช้อ้างอิงให้น้ำหนักในการลงทุน  รอบนี้ หุ้นบมจ.ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) ในฐานะบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทขวดและฝา และชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานยนต์ที่มีคุณภาพตามรูปแบบความต้องการใช้งานของลูกค้า  ก็ได้รับการคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนีรอบนี้
สะท้อนถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งของบริษัท โดยเห็นได้จาก ผลการดำเนินงานของบริษัทฯในไตรมาส 2/2566 มีรายได้รวม 904.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.58 ล้านบาท หรือ 1.6 % เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 890.1 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 41.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.7 ล้านบาท หรือ 4.6% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 10.92 ล้านบาท
ประธานกรรมการบริหาร “วิวรรธน์ เหมมณฑารพ” ระบุว่า ผลงานที่ปรับตัวดีขึ้น ได้รับปัจจัยหนุนจากภาครัฐเดินหน้านโยบายเปิดเมืองเต็มรูปแบบรวมถึงประเทศจีนเปิดประเทศได้เร็ว ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ส่งผลเชิงบวกต่อสินค้าหลักของบริษัทในกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งน้ำมันหล่อลื่นและนมเปรี้ยว กลับมาเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยอดขายชิ้นส่วนยานยนต์ที่จะเพิ่มขึ้นจากการที่นิวโมเดลเข้ามามาก หลังจากที่ต้องเลื่อนออกไปจากสถานการณ์เซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลน
และบริษัทฯยังคงเดินหน้าที่จะเพิ่มช่องทางสร้างรายได้จากการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้าง New S-curve ผลักดันการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยอยู่ระหว่างเพิ่มสายการผลิตในส่วนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ คาดจะเริ่มผลิตได้ภายในปีนี้ รวมทั้งยังคงเปิดโอกาสในการศึกษาและหา Synergy ร่วมกับพันธมิตรที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติก  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จิ้นสูง
นอกจากนี้บริษัทฯยังตั้งเป้างบลงทุนไว้ประมาณ 300 ล้านบาท  แบ่งการลงทุนเป็น 3 ส่วน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจลอนดรี้ โดยจะเป็นการลงทุนในเรื่องของระบบออโตเมชัน เพื่อประสิทธิภาพของเครื่องจักร ขณะที่ลงทุนในไลน์ผลิตในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ปัจจุบันกำลังกลับมาฟื้นตัว และเชื่อว่าในอนาคตจะยังคงทิศทางที่เติบโตต่อเนื่อง และรองรับการขยายตัวของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคต  ทั้งนี้ปัจจุบัน มี Backlog จากกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 แล้ว
ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน  นายนฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวในงาน Thailand Focus 2023 ในหัวข้อ "Benefifs from supply chain relocation and renewed investments : EV industries"  โดยเชื่อว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีความแข็งแกร่ง โดยมีส่วนแบ่งใน GDP ถึง 6% และถูกจัดอยู่ในอันดับ 10 ของโลก
          
นอกจากนี้ ไทยยังเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก เนื่องจากมีซัพพลายเชนที่ครบวงจรจากการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้มานานถึง 50 ปี โดยปัจจุบัน มีบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์และส่วนประกอบอื่น ๆ อยู่ในไทยมากกว่า 2,000 บริษัท
         
ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าจะเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ EV ระดับโลก โดยมีแผนจะผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ราว 30% ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศไทย ภายในปี 2573 ผ่านการส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน BOI ได้ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ EV ให้ขึ้นมาเป็นภาคการผลิตรถยนต์ที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบของการส่งออกรถยนต์ของประเทศ 10% และมีอัตราการเติบโต 5% ต่อปี
          
ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมมีการฟื้นตัวมากขึ้น โดยมีเงินลงทุนโดยตรง (FDI) เข้ามาถึง 3 แสนล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งแหล่งเงินทุนมาจากจีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ขณะที่โครงการพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่าการลงทุนถึง 2.6 หมื่นล้านบาท
PJW