Wealth Sharing

KTB ชี้ การแพทย์จีโนมิกส์ ปี 2573 มูลค่าตลาดแตะ 6.0 หมื่นลบ.


09 กุมภาพันธ์ 2566
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้ การยกระดับและสนับสนุนด้านการแพทย์จีโนมิกส์ จะช่วยหนุนไทยสู่เป้าหมายการเป็น Medical Hub  คาดปี 2573 มูลค่าตลาดการแพทย์จีโนมิกส์ของไทยขึ้แตะระดับ 1.70 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 6.0 หมื่นล้านบาท 

ktb ชี้ การแพทย์.jpg

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการแพทย์เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด และยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในระยะข้างหน้า เนื่องจากรัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญคือ การผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub” อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศมูลค่ามหาศาล

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันด้านการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ไทยจำเป็นต้องมีการ upgrade วิวัฒนาการใหม่ ทันโลก ทันสมัย โดยต้องมุ่งไปด้านจีโนมิกส์ เนื่องจากการแพทย์จีโนมิกส์ก่อให้เกิดการแพทย์มูลค่าสูง และยังเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ตามแผน BCG Model อีกด้วย

“อุตสาหกรรมการแพทย์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท การยกระดับและสนับสนุนด้านการแพทย์จีโนมิกส์ของไทย จะเสริมศักยภาพและความพร้อมด้านการบริการทางการแพทย์ ที่เป็นจุดเด่นสำคัญและมีความพร้อมมากที่สุดที่จะช่วยส่งเสริมและเร่งสปีดให้ไทยก้าวขึ้นเป็น Medical Hub ในระดับโลก และแถวหน้าของเอเชียได้ไม่ยากนัก อีกทั้งสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดการแพทย์จีโนมิกส์ทั่วโลกที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 17.9% ต่อปี ในช่วง 10 ปีข้างหน้า”
นางสาวสุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ กล่าวว่า การแพทย์จีโนมิกส์ เป็นนวัตกรรมการให้บริการทางการแพทย์ที่มีการประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรมร่วมกับข้อมูลสุขภาพอื่นๆ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม และวิถีชีวิต และนำมาใช้ทำนายโอกาสการเกิดโรค การวินิจฉัย การรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยำ และเหมาะสมเฉพาะเจาะจงสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น เป็นเมกะเทรนด์ที่จะเข้ามาพลิกโฉมวงการการแพทย์

โดยหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพความสามารถของจีโนมิกส์ได้ชัดเจน นั่นก็คือ การหาสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 และการพัฒนาวัคซีน โดยนักวิทยาศาสตร์ได้นำข้อมูลจากการทำ DNA Sequencing หรือการหาลำดับดีเอ็นเอ ไปต่อยอดสู่การผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA  และในอนาคตการแพทย์จีโนมิกส์จะมีบทบาทในการรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อน และโรคหายากมากขึ้น 

ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลได้เร่งผลักดันการแพทย์จีโนมิกส์อย่างเป็นรูปธรรมตามแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563-2567) ภายใต้ โครงการ Genomics Thailand ที่มุ่งพัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์  ใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง โรคหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ และกลุ่มผู้ป่วยแพ้ยา ผนวกกับการลงทุนของภาคเอกชนรายใหญ่ที่เป็นผู้นำด้านการบริการสุขภาพ คาดว่า จะส่งผลให้มูลค่าตลาดการแพทย์จีโนมิกส์ของไทยขึ้นไปแตะระดับ 1.70 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 6.0 หมื่นล้านบาท ในปี 2573 เติบโตเฉลี่ยปีละ 16.4% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 เกือบ 4 เท่า
KTB