จิปาถะ

ถอดความคิด "เศรษฐา ทวีสิน" ทัศนคติสะท้อนความเป็นผู้นำ


19 กันยายน 2566

"เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย เปิดใจถึงตัวตนและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่สะท้อนวิธีคิดสู่การเป็นผู้นำประเทศไทยคนใหม่ในงาน Thairath Forum 2023 l Future Perfect เปิดมุมคิด พลิกอนาคต เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

ถอดความคิด เศรษฐา ทวีสิน.jpg

จากผู้นำองค์กรเอกชนสู่บทบาทผู้นำประเทศ
สรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์ ผู้ดำเนินรายการ ได้ทักทายและสอบถาม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย เกี่ยวกับวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป จากที่เคยทำภาคเอกชนมาเป็นภาคข้าราชการ รวมถึงการทำงานในช่วง 7 วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ที่เขายังไม่ได้หยุดงาน แถมยังจัดตารางเวลาไปออกกำลังกายด้วยการเตะฟุตบอลอีกด้วย

นายกฯ คนที่ 30 เผยว่าตอนทำงานในบทบาทผู้บริหารองค์กรเอกชน เขาเป็นคนทำงานเร็ว ตัดสินใจเร็ว กระชับฉับไว ที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในองค์กรหลายหน่วยงาน แต่ก็ไม่ได้มีจำนวนมากเท่ากับตอนทำงานในภาครัฐบาล ที่ต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำให้สไตล์การทำงานเปลี่ยนไป ต้องมองภาพในมุมที่กว้างขึ้น และต้องมีการเรียนรู้อยู่ทุกวัน

“ผมเพิ่งเริ่มมีอำนาจการบริหารงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็คืออาทิตย์หนึ่งที่ผ่านมา บางเรื่องก็ตัดสินใจเร็วเกินไปหรือว่าพูดเร็วเกินไป ต้องมีการไตร่ตรองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ก็เป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ไป"

เมื่อหนุ่มเมืองจันท์ถามว่ามีการนำวิธีทำงานในภาคเอกชนมาปรับใช้ในการทำหน้าที่นายกฯ บ้างหรือไม่ เศรษฐา ทวีสิน ตอบว่าเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนและเรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นเรื่องที่รอนานไม่ได้ หากสิ่งใดที่สามารถลงมือทำได้ก็ควรทำก่อน เพื่อเป็นกำลังใจให้ประชาชนได้มีความหวัง

ขณะเดียวกัน เขาก็มีแผนปรับสไตล์การทำงานจากที่มีห้องหรือกำแพงสำหรับนายกฯ กั้นออกจากพื้นที่ทำงาน ให้มาเป็นนั่งทำงานร่วมกันกับทุกคนในทีมได้ เพื่อรับฟังปัญหาการทำงานจากทุกภาคส่วนได้อย่างเต็มที่ เป็นการปรับวัฒนธรรมการทำงานรูปแบบใหม่ที่เขาอยากให้เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นรัฐบาลที่เข้าถึงได้

“ตั้งแต่รับตำแหน่งนายกฯ ผมก็นั่งเก้าอี้ที่ห้องตัวเองแค่ 10 วินาทีตามเวลาที่ซินแสบอก นอกจากนั้นก็ไม่ได้ใช้อีกเลย ใช้เป็นห้องทางผ่านเวลาไปเข้าห้องน้ำอย่างเดียว ก็มีแผนที่จะปรับปรุงโต๊ะทำงานให้มีความ Inclusive และ welbeing มากขึ้น เพื่อใช้รับฟังปัญหาการทำงานจากทุกภาคส่วน การทำงานที่มีห้องหรือมีกระจกกับประตูกั้นแล้วจะทำให้บรรยากาศการทำงานไม่เป็นมิตรภาพเท่าไร ผมอยากทำงานให้เป็นรัฐบาลที่เข้าถึงได้แล้วก็มีคณะทำงาน ตอนนี้กำลังคิดว่าจะไปใช้บ้านพิษณุโลกให้คณะที่ปรึกษาได้นั่งทำงานกัน เป็นการนั่งทำงานร่วมกันที่ลดขั้นตอนทุกอย่าง นี่เป็นวัฒนธรรมที่ผมอยากให้เกิดขึ้น”

การแบ่งชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ และอภิสิทธิ์ชนต้องลดลง
เศรษฐา ทวีสิน เคยพูดถึงเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำและอภิสิทธิ์ชนขณะที่เรียนในวิทยาลัยป้องกันอาณาจักร (วปอ.) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศ ขึ้นตรงกับสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่จัดการศึกษาหลักสูตรเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติและการป้องกันราชอาณาจักร ให้แก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน พนักงานองค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเอกชน โดยฝึกปฏิบัติการวางแผนและนโยบายระดับชาติ การพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ

เนื่องจากเขามองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะการใช้ความสัมพันธ์ในทางที่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับคนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูงอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในสายตาประชาชนและเยาวชนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก

“ผมมองว่าเด็กและเยาวชนไทยขาดความหวังและแรงบันดาลใจ การใช้ทรัพยากรของรัฐให้คำนึงให้ดี เพราะหลายคนก็สามารถเข้าถึงได้หลายๆ เรื่อง เพราะด้วยตำแหน่งที่ใหญ่โตก็ทำให้ได้มา แต่ผมคิดว่าเราควรใช้ให้น้อยลงดีกว่า เพราะการใช้สิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นที่จับตามองของเยาวชนรุ่นหลัง เพราะปัญหาความแตกแยกของสังคมในปัจจุบันก็มีเรื่องนี้เกี่ยวข้องส่วนหนึ่ง ซึ่งเยาวชนก็เห็นอยู่แล้วว่าพวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ทำอะไรที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องอยู่บ้างหรือเปล่า อย่าคิดว่าไม่มีใครเห็น เพราะปัจจุบันนี้มันถูกส่งต่อด้วยโซเชียลมีเดีย ซึ่งผมก็พูดด้วยความปรารถนาดี ไม่ได้ไปด้อยค่า แล้วก็ยืนยันอีกครั้งว่าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เป็นสถาบันที่ดีมากๆ และสมควรที่จะสนับสนุนให้มีต่อไป”

โดยเขายอมรับว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่นายกฯ เขาก็พยายามพูดในสิ่งที่ลดความขัดแย้งให้น้อยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารต้องชัดเจนและต้องได้ใจความจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาพยายามปรับตัวอยู่เช่นกัน

หนุ่มเมืองจันท์ได้ย้อนถามถึงภาพถ่ายร่วมกับเหล่านักธุรกิจรายใหญ่ระดับชั้นนำของประเทศ ที่เศรษฐา ทวีสิน ไปรับประทานอาหารร่วมกันหลังจากได้ตำแหน่งนายกฯ ที่หลายคนมองว่าเป็นการใช้สายสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ กับนักธุรกิจหรือไม่

เขาเผยว่าที่ไปร่วมรับประทานอาหารด้วยกันในวันนั้นเป็นไม่ได้มีการคุยเรื่องผลประโยชน์ใดๆ บริบทของการสนทนาคือช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้สังคมดีขึ้น

“ในวงที่เราคุยกันไม่ได้พูดเรื่องธุรกิจเลย พูดเรื่องสังคมมากกว่า ซึ่งหลายท่านผมก็ไปเจอกันเป็นประจำอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จะมารับตำแหน่งนายกฯ เวลาที่ผมลงพื้นที่ ผมก็ไปพบพี่น้องประชาชน ไปคุยกับชาวนา ผมไปเจออดีตนายกฯ สองท่าน ก็ไปพูดคุย ไปรับข้อมูลให้เยอะที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ แล้วก็มั่นใจว่าประสบการณ์ที่มีอยู่กับความคาดหวังของสังคมจะพยายามไม่ทำให้ผิดหวังหรือต้องเป็นที่ถูกมองว่าเอื้อต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

คำสอนจากคุณแม่ที่ส่งถึงบทบาทผู้นำประเทศ
เศรษฐา ทวีสิน ได้รับคำชมจากหลายคนเกี่ยวกับการไหว้ของเขาที่สวยงามและดูจริงใจ ซึ่งเขาเผยว่าเป็นคำสอนจากคุณแม่ของเขาที่ย้ำเสมอว่าการไหว้เป็นเรื่องสำคัญและสร้างความประทับใจแรกพบได้เสมอ หากเรามีการเริ่มต้นที่ดี มีการทักทายที่เหมาะสม เป็นการแสดงถึงความเคารพและให้เกียรติกัน ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตหรือเป็นคนธรรมดาทั่วไป ทุกคนก็เท่าเทียมกันได้

นอกจากนี้คุณแม่เขายังสอนอีกว่าอย่าทำตัวเป็นภาระของใคร ควรช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เวลาไปไหนก็ไม่ต้องมีการต้อนรับหรือมีคนติดตามจำนวนมาก ซึ่งเขาก็นำวิธีคิดเหล่านี้มาปรับใช้กับการเป็นผู้นำของประเทศด้วยเช่นกัน

เขามีแผนที่จะมาใช้ชีวิตที่ทำเนียบรัฐบาลแทนบ้านของตนเอง เพราะหลังจากได้รับตำแหน่งนายกฯ ก็ทำให้มีคณะตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยคอยติดตามจำนวนมากและเขาต้องเดินทางบ่อย จึงไม่อยากรบกวนเพื่อนบ้านในบริเวณใกล้เคียง

“ผมมีแผนจะไปนอนที่ทำเนียบฯ จริงๆ เพราะบ้านที่ผมอยู่มีขนาดแค่ 197 ตารางวา มันเล็กมากแล้วก็ต้องมีตำรวจอีก ผมก็คิดว่าจะทำให้เพื่อนบ้านเดือดร้อน เพราะเราต้องเดินทางเยอะ จึงไม่อยากเป็นภาระกับตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยด้วย คนที่เป็นภาระจริงๆ ก็คือฝ่ายเลขาฯ ของผม เพราะผมตื่นมากินอาหารเช้าตอน 06.30 น. ก็ต้องมีคนมารับงานตอน 06.30 น. ด้วย”

โดยเขาวางแผนว่าจะไปนอนที่ทำเนียบฯ อาทิตย์ละ 3-4 วัน หากวันไหนมีงานตอนดึกก็สามารถสั่งงานกลุ่มเลขาฯ ของเขาได้ ซึ่งมีทั้งหมด 4-5 คน คอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามช่วงเวลาทำงานที่ตนเองสะดวก เพราะเขาเข้าใจดีว่าบางคนก็บ้านไกลเดินทางลำบาก และยอมรับว่าเคยคุยเรื่องนี้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ก็ได้รับคำเตือนมาว่าให้ระวังว่าคนจะมองว่าเป็นการสร้างภาพ ซึ่งเขาก็น้อมรับและเข้าใจดีว่าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน

นายกฯ คนที่ 30 ได้กล่าวทิ้งท้ายงาน Thairath Forum 2023 ว่าเขาไม่ต้องการเขียนเรื่องราว หรือประวัติศาสตร์ของตนเองให้คนจดจำ แต่อยากให้ประชาชนเป็นคนเขียนเรื่องราวของเขาแทนว่ามีภาพจำต่อนายกฯ คนนี้อย่างไร

“ผมอยากให้ประชาชนเขียนว่ามีความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไร ในความแตกแยกของสังคมไม่ว่าทางด้านเรื่องความต่างวัย ต่างความคิด เราสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีการด้อยค่าซึ่งกันและกัน โดยใช้วาทกรรมที่หยาบคาย อยากให้เรานั่งอยู่บนเวทีแบบนี้ได้ แล้วพูดจากันได้ด้วยสายตาที่ไม่มีการเยาะเย้ยถากถาง ตรงนี้เป็นเรื่องที่ผมอยากให้สังคมดีขึ้นเมื่อจะหมดเทอมของผมเอง และอยากให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่สุด”

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/politic/2726202