นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ว่าภายในสัปดาห์นี้จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่ออนุมัติในรายละเอียด อาทิ มูลหนี้ไม่เกินเท่าไรจึงจะเข้าโครงการพักหนี้ได้ และกระทรวงการคลังจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติในการประชุมวันที่ 26 กันยายนนี้
“การพักชำระหนี้ของเกษตรกรครั้งนี้จะแตกต่างจากอดีต คือแม้จะเข้าโครงการพักหนี้แล้ว แต่เกษตรกรยังกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจาก ธ.ก.ส.นำไปประกอบอาชีพได้ หลังจากพ้นระยะเวลาการพักหนี้เกษตรกรจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งระหว่างการพักหนี้ ธ.ก.ส.จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรชำระหนี้เข้ามาได้ โดยเงินชำระหนี้จะนำไปตัดเงินต้นเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้หลังพ้นระยะเวลาการพักชำระหนี้แล้วเกษตรกรจะได้มีภาระหนี้ลดลง”นายจุลพันธ์กล่าว
นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการพักหนี้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กระทรวงการคลังได้ตั้งคณะทำงานมาพิจารณามาตรการในเรื่องนี้ โดยมีตนเป็นประธาน เบื้องต้นจะเสนอพักหนี้เอสเอ็มอีที่อยู่ในรหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเวลา 1 ปี โดยมาตรการพักหนี้กลุ่มเอสเอ็มอีมีรายละเอียดมาก คาดว่าใช้เวลามากกว่ามาตรการพักหนี้เกษตรกร คงไม่สามารถเสนอ ครม.วันที่ 26 กันยายนได้
นายจุลพันธ์กล่าวว่า ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่อยู่ในรหัส 21 ของ ธปท. หมายถึง ลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกินกว่า 90 วัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่ปกติหรือเป็นหนี้เสียตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากกลุ่มนี้เคยเป็นลูกหนี้ที่จ่ายเงินปกติ ไม่มีประวัติผิดนัดชำระ แต่จากเหตุการณ์โควิดส่งผลไม่สามารถใช้หนี้ได้ โดยลูกหนี้เอสเอ็มอีในรหัส 21 มีทั้งหมด 3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ราว 3 แสนล้านบาท การพิจารณาพักการชำระหนี้เอสเอ็มอีจะกำหนดกรอบของมูลหนี้ที่เข้าโครงการนี้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระการชดเชยของรัฐบาลมากเกินไป ซึ่งหนี้ของเอสเอ็มอีมีทั้งที่อยู่ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณามากกว่าการพักหนี้ให้กับเกษตรกร
ที่มา : https://www.matichon.co.th/local/news_4188839