จิปาถะ

บี้ 20 สินค้าจำเป็น ‘ข้าว-ไก่-ไข่-หมู’ ลดราคาต้น ต.ค.นี้


21 กันยายน 2566

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงมาตรการลดราคาสินค้าหลังจากรัฐบาลประกาศลดราคาน้ำมันดีเซลว่า การลดราคาน้ำมันของรัฐบาลเนื่องจากเป็นปัญหาต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน ซึ่งมีปัญหาเรื่องต้นทุนสินค้าตามมา เพราะในต้นทุนสินค้ามีค่าโลจิสติกส์และค่าผลิต เรื่องนี้ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนให้กรมการค้าภายในดูเรื่องการลดราคาสินค้าภายใน 15 วัน โดยให้ดูรายการสินค้าทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน สินค้าตัวไหนมีต้นทุนอย่างไร และจะลดราคาได้แค่ไหน คาดว่าต้นเดือนตุลาคมนี้น่าจะมีความชัดเจน

บี้ 20 สินค้าจำเป็น.jpg

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือภายในสัปดาห์หน้าจะไปพูดคุยกับผู้ประกอบการรายใหญ่เพื่อหารือกันเรื่องนี้ด้วย คนตัวใหญ่ต้องช่วยคนตัวเล็กให้ขึ้นไปด้วยกัน แก้ปัญหา สร้างจุดสมดุลให้กับผู้ผลิตผู้ประกอบการและผู้บริโภคให้ไม่กระทบกับทุกฝ่าย หาจุดที่ประนีประนอมกันได้ โดยคาดว่าสินค้าที่จะได้รับการพิจารณาจะเป็นสินค้าที่อยู่ในชีวิตประจำวันประมาณ 20 ตัว เช่น ข้าว ไก่ หมู ไข่ เราจะลดต้นทุนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบายหาจุดสมดุลและอยู่ร่วมกันได้กับทุกฝ่าย น่าจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 จากเดิมหน่วยละ 4.45 บาท ให้เหลือ 3.99 บาท ว่า ล่าสุดบอร์ดกกพ.ได้ประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 20 กันยายน โดยเชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
แห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) มาชี้แจง เบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุป แต่ได้สั่งการ 2 หน่วยงานเร่งกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายตามนโยบายของรัฐบาล

“เดิมการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.45 บาทนั้น เป็นการคำนวณที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน 2550 มาตรา 65 และประกาศ กกพ. เรื่องกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ 2565 แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายปรับลดเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.99 บาท เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ จึงจำเป็นต้องให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง แบกรับภาระไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานผ่อนคลายจึงเรียกเก็บคืนค่าไฟฟ้าคงค้างจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า สำหรับแนวการปฏิบัติตามมติ ครม. ที่เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน คือ กำหนดให้ ปตท. ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู หรือแบกรับประมาณ 11 สตางค์ต่อหน่วย และให้ กฟผ. งดเว้นการเรียกเก็บคืนเงินค่าไฟฟ้าคงค้าง (เอเอฟ) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท และอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเหลือหน่วยละ 3.99 บาทตามมติครม.

ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_4190665