จิปาถะ

บาทอ่อนค่าหนัก จ่อแตะ 37 บาท/ดอลลาร์


21 กันยายน 2566

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.25 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.50 บาทต่อดอลลาร์

บาทอ่อนค่าหนัก.jpg

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนหนัก (แกว่งตัวในช่วง 35.86-36.23 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซนแนวต้านสำคัญของราคาทองคำ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากการที่เฟดยังคงส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งและคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น

นายพูนกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท อาจอ่อนค่าไปได้มากกว่าที่เคยประเมินไว้ และเงินบาทอาจอยู่ในโซนอ่อนค่าได้นานกว่าคาด (Weaker for Longer) ตามทิศทางเงินดอลลาร์ที่ยังคงได้แรงหนุนจากแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้นกว่าคาดของเฟด นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมเสี่ยงที่จะยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และนักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยในระยะสั้นนี้

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)(ในช่วงเวลาราว 18.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจตอบรับการขึ้นดอกเบี้ยของ BOE ที่สวนทางกับคาดการณ์ของตลาดในเชิงลบได้ โดยตลาดอาจตีความว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ BOE อาจยิ่งกดดันให้เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงมากขึ้น ส่งผลให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) เสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงต่อ ซึ่งภาพดังกล่าวได้เกิดขึ้นหลังการประชุม ECB ล่าสุด ที่เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง แม้ว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทมองว่ามีโอกาสอาจอ่อนค่าต่อทดสอบโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ในโซนดังกล่าวไปจนถึงช่วง 37 บาทต่อดอลลาร์ ในเชิง Valuation ค่าเงินบาทถือว่า “Undervalued” หรือ ถูกพอสมควร ทำให้มีโอกาสที่เงินบาทอาจเริ่มแกว่งตัว sideways หรือ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่โซนแนวรับในช่วงนี้ อาจสูงถึง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน โดยจะมีโซน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับถัดไป

“ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน แนะนำผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option และการเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง”นายพูนกล่าว

ขณะเดียวกัน ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงแรง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.5 จุด (กรอบ 104.6-105.5 จุด)

นายพูนกล่าวว่า สำหรับวันนี้ หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดได้รับรู้ผลการประชุม FOMC ในช่วงเช้าตรู่ไปแล้ว มองว่า ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาให้ความสนใจ ต่อผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) หลังจากที่ล่าสุด รายงานอัตราเงินเฟ้ออังกฤษที่ชะลอลงกว่าคาด สู่ระดับ 6.7% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงสู่ระดับ 6.2%) ทำให้ตลาดเริ่มประเมินว่า BOE อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25%

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า อัตราเงินเฟ้ออังกฤษยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้ง แรงกดดันเงินเฟ้อจากค่าจ้างก็ยังมีอยู่ (wage growth ล่าสุดยังคงสูงกว่า +8.5%y/y) ทำให้ BOE อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +25bps สู่ระดับ 5.50% ทั้งนี้ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ การส่งสัญญาณของ BOE ว่าพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่ และ BOE มีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร

“ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้”นายพูนกล่าว

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4190950