จิปาถะ

ชง ครม.26 ก.ย.นี้ พักหนี้เกษตรกร


21 กันยายน 2566

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากที่ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นั้น ในเรื่องของโครงการ ดิจิทัล วอลเล็ต ขณะนี้ได้กำหนดกรอบการทำงานและเรื่องของวิธีการทำงาน รวมถึงระยะเวลาว่าจะเร่งดำเนินการได้อย่างไร ซึ่งดูแล้วทุกฝ่ายก็ตอบรับอย่างดี จึงเชื่อมั่นว่า โจทย์หลักคือเริ่มใช้จ่ายวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ไว้ น่าจะทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ตสำเร็จ

ชง ครม.26 ก.ย.นี้.jpg

“ในวันนี้เป็นเพียงการวางกรอบการทำงานเท่านั้น ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ยังต้องรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในอังคารที่ 26 กันยายนนี้ คลังจะเสนอเรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ก่อน หลังจากนั้นก็จะเริ่มการนัดประชุมจริง” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า โดยคณะกรรมการโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ตนั้น จะประกอบด้วยกรรมการจากหลายหน่วยงาน ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ทำระบบ หน่วยงานที่จะดูแลเรื่องการใช้งาน หน่วยงานที่ช่วยตรวจสอบเรื่องของการโกง การทุจริต และสุดท้ายคือหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบหลังจากที่โครงการจบลง กังนั้นถือว่าเป็นคณะกรรมการที่มีความครอบคลุม รวมตั้งแต่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆด้วย

เมื่อถามว่าใครจะเป็นประธานคณะกรรมการโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ก็ต้องรอดูครม.อีกครั้ง สำหรับที่กำหนดการที่นายกฯให้เวลาหาข้อสรุปที่ชัดเจน ภายใน 10 วันนั้น จะพยายามสรุปทั้งหมดทุกเรื่องให้ได้ตามกำหนด

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่เรื่องนโยบายการพักหนี้เกษตรกรกระทรวงการคลังได้มีการหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เรียบร้อยแล้ว โดยจะเสนอมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ให้ ครม.อนุมัติในการประชุมวันที่ 26 กันยายนนี้ และหลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการมาตรการดังกล่าวให้เร็วที่สุด

“ตอนนี้กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการพักหนี้เกษตรกรเสร็จแล้วประมาณ 90% เราจะเสนอครม.ได้ในสัปดาห์หน้า และหลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินมาตรการให้เร็วที่สุด” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่วนการพักหนี้เอสเอ็มอีนั้น ยังมีความซับซ้อน ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากลูกค้าเอสเอ็มอีมีทั้งกลุ่มที่เป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ โดยจะต้องมีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอความร่วมมือ และข้อสรุปอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพักหนี้เกษตรกรนั้น รูปแบบอาจจะไม่ได้เป็นพักหนี้ให้ทั้งระบบเหมือนในช่วงโควิดที่ผ่านมา อาจจะเปิดให้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์เข้าข่ายได้รับการพักหนี้เข้ามาลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการเพื่อแสดงตัวตน ซึ่งในขั้นตอนนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดวิธีการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรมากที่สุด

ที่มา :  https://www.matichon.co.th/politics/news_4191653