จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : CMAN บุกตลาดเอเชียแปซิฟิค เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน


22 กันยายน 2566
บมจ.เคมีแมน หรือ CMAN ผู้ผลิตปูนไลม์ครบวงจรระดับท็อปเทนของโลก ศึกษาขยายตลาดต่างประเทศ รองรับการขยายธุรกิจ (Business Footprint) และเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

รายงานพิเศษ CMAN.jpg

บมจ.เคมีแมน หรือ CMAN ผู้ผลิตปูนไลม์ครบวงจร ซึ่งปูนไลม์หรือเคมีพื้นฐานตัวนี้ ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่สำคัญ  ในกระบวนการผลิตแร่โลหะต่าง ๆ เช่น ทองคำ ทองแดง สังกะสี นิกเกิล อลูมิเนียม ลิเทียม เหล็ก อิฐมวลเบา น้ำตาล กระดาษและเยื่อกระดาษ พลาสติกชีวภาพ แก้ว กระจก  การบำบัดก๊าซและน้ำเสีย

และบริษัทยังเป็นผู้ผลิตปูนไลม์ชั้นนำของคนไทย ที่มีเหมืองแร่หินปูนเคมีคุณภาพสูงทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม ทำให้บริษัทมีแหล่งวัตถุดิบที่มั่นคงและสม่ำเสมอ สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้ตามมาตรฐานของลูกค้า และบริหารต้นทุนวัตถุดิบได้เมื่อตลาดผันผวน อีกทั้งมีโรงงานผลิตปูนไลม์ในประเทศไทย เวียดนาม และอินเดีย และศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ที่ล้ำสมัยในประเทศออสเตรเลีย สามารถขยายฐานลูกค้าได้ครอบคลุมหลายภูมิภาคและหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นปัจจัยส่งเสริมในการสร้างกำไรให้กับผู้ถือหุ้นเป็นอย่างดี 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์”  ยอมรับแนวโน้มธุรกิจในไตรมาส3 ปี 2566 ประเมินว่า ความต้องการปูมไลม์จะลดลง เนื่องจากเป็นช่วง low season ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก บริษัทฯ จึงวางแผนหยุดเดินเตาเผาปูนไลม์เพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ประจำปีและปรับปรุงประสิทธิภาพ เตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตในไตรมาส4 ซึ่งโดยปกติของทุกปีจะเป็นช่วงเริ่มต้น high season ของความต้องการสินค้าปูนไลม์

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลัง บริษัทฯ มุ่งเน้นการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพสูง เพิ่มยอดขายในกลุ่มลูกค้าที่มีอัตรากำไรเหมาะสม พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเป้าหมายอื่นๆ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ (Business Footprint)และเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีอัตราการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานและการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อความต้องการปูนไลม์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบายเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจในระยะยาว จึงมีแผนการลงทุนในโครงการ Solar Farm และขยายการใช้รถไฟฟ้า (Electric Vehicles)เพิ่มเติม ประกอบด้วยรถตักไฟฟ้า (Electric Wheel Loaders) และรถบรรทุกไฟฟ้า (Electric Trucks) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2566  บริษัทสามารถทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีรายได้รวม จำนวน 1,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86 ล้านบาท หรือ 4.6% เมื่อเทียบกับงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 ที่ทำได้ 1,834 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัท จำนวน 152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89.9% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2565 และเทียบเท่ากำไรสุทธิของทั้งปี 2565 ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 มีรายได้จากการขายและบริการ จำนวน 856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ทำได้ 851 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น จำนวน 59 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุน 4 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี2566 ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เป็นผลจากการปรับแผนกลยุทธ์ระยะยาว ขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม สามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และส่งมอบสินค้าอย่างรวดเร็ว เพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไรอย่างต่อเนื่อง