Wealth Sharing

SRS เคาะราคา IPO 16 บ./หุ้น จองซื้อ 2 - 4 ต.ค.66 เดินหน้าเทรด mai 10 ต.ค.นี้


29 กันยายน 2566
นายพัชระนนท์ ชีวเกรียงไกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า หลังจาก บมจ. สิริซอฟต์ หรือ SRS ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 40 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ 

SRS เคาะราคา IPO 16 บ. หุ้น.jpg

ล่าสุดได้รับการอนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งมีผลบังคับใช้แล้ว จึงกำหนดราคาเสนอขาย IPO ที่ 16 บาทต่อหุ้น เตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 2 - 4 ตุลาคม 2566 และคาดว่าจะนำหุ้น SRS เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ในหมวดธุรกิจเทคโนโลยี (Technology)  

สำหรับราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 16 บาท ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ที่ประมาณ 38.37 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลการดำเนินงานในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2566) ทั้งนี้ SRS พิจารณานำ P/E ของคู่เทียบในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในช่วง 30 วันทำการ นับจากวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2566 มาเป็นข้อมูลประกอบการเปรียบเทียบ ซึ่งมี P/E เฉลี่ยอยู่ที่ 51.76 เท่า และมั่นใจว่า ภายหลังเสนอขายหุ้น IPO ของ SRS จะนำเงินไปใช้ขยายการเติบโต เพิ่มขีดความสามารถ SRS เป็นหนึ่งในผู้นำขับเคลื่อนการทำ Digital Transformation โดยนำเสนอบริการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับองค์กร พัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล 

นายสิริวัฒน์ ธนุรเวท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิริซอฟต์ จำกัด (มหาชน) (SRS) เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตด้วยซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ และก้าวต่อไปอย่างมั่นคงสู่การเป็นบริษัทผู้ให้บริการ Information Technology Services รายใหญ่ของประเทศไทย ที่มีแนวทางการทำงานแบบ DevOps (Development & Operations) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง มุ่งสร้างผลประกอบการที่ดีในระยะยาว 

การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในครั้งนี้ จึงเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ทั้งในด้านการบริหารทีมนักพัฒนา แหล่งเงินทุน และแผนการขยายตลาดเชิงรุก  โดยเงินระดมทุนที่ได้จำนวนประมาณ 614.7 ล้านบาท (หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) จะนำไปใช้ การพัฒนาและปรับปรุงซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานภายในองค์กร 20 ล้านบาท ใช้ในการสรรหาและพัฒนาบุคลากรในการพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์ รวมถึงการขยายพื้นที่สำนักงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ 280 ล้านบาท และ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ 314.7 ล้านบาท รองรับโอกาสการเติบโตในอนาคต 

อย่างไรก็ดี ด้วยความแข็งแกร่งของธุรกิจ และ DevOps Culture คือหัวใจในการเติบโตต่อเนื่องตลอด 8 ปีที่ผ่านมา SRS จึงพร้อมมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็นบริษัท IT Consulting Service ที่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ดีๆ ให้แก่ประเทศ โดยในกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้ง มั่นใจในการเติบโต พร้อมใจกัน lock up หุ้นทั้งหมด 100% เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดในการติด Silent Period ห้ามขายหุ้นในสัดส่วน 55% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน 

นางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวปิดท้ายถึงความน่าสนใจของ SRS เป็นบริษัทที่มีศักยภาพ และมีความน่าสนใจในหลายๆ ด้าน ด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ High Code ซึ่งมีความต้องการสูงในอุตสาหกรรม ประกอบกับ DevOps Culture และการให้บริการออกแบบพัฒนาซอฟต์แวร์โดยใช้สถาปัตยกรรมแบบ Microservices ทำให้วันนี้ SRS มีความโดดเด่นในการนำเสนอซอฟต์แวร์ที่ดีให้แก่ลูกค้า สามารถส่งมอบงานได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ลูกค้าซึ่งมีแผนการลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 

สะท้อนมาที่การเติบโตของผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 - 2565) SRS มีการเติบโตของรายได้ CAGR เฉลี่ย 137.37% เนื่องจากการขยายทีมนักพัฒนา ตอบโจทย์ลูกค้าองค์กรที่มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และให้ความสำคัญในด้าน Digital Transformation เป็นอีกบทพิสูจน์ความไว้วางใจที่ลูกค้ามีต่อบริษัท และ ณ สิ้นมิถุนายน 2566 SRS มี Backlog อยู่ในระดับสูงราว 526 ล้านบาท กำหนดส่งมอบงานในปีนี้สูงถึง 297 ล้านบาท รวมทั้ง บริษัทมี Recurring Income สูงถึง 44% ส่งผลให้บริษัทมีรายได้ที่ต่อเนื่องและมั่นคง เป็นอีกปัจจัยสะท้อนความแข็งแกร่งทางการเงิน และการเติบโตที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรม จึงมั่นใจว่า เงินระดมทุนครั้งนี้ จะยิ่งสนับสนุนให้ SRS  เติบโตตามแผนงานที่วางไว้

ทั้งนี้ สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 - 2565 SRS มีรายได้จากการขายและบริการ อยู่ที่ 72.91 ล้านบาท 187.03 ล้านบาท และ 410.81 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 14.39 ล้านบาท 25.47 ล้านบาท และ 68.69 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 19.73% , 13.51% และ 16.67% ของรายได้รวม ตามลำดับ ด้านผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 306.24 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 47.34 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้น 35.46% และอัตรากำไรสุทธิ 15.47% อีกทั้ง มีพนักงานรวมทั้งสิ้น 238 คน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ และฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์เป็นหลัก ซึ่งมีอยู่ที่ 124 คน
SRS