จิปาถะ

เรื่องใหญ่! ศาลสั่งเพิกถอนประกาศ ตร. ใบสั่ง-ค่าปรับ ย้อนหลังถึงปี 63


06 ตุลาคม 2566

ทนายเจมส์ นิติธร แก้วโต ทนายความชื่อดังโพสต์ข้อความผ่านเพจ "ทนายเจมส์ LK" ระบุว่า

การเมือง copy_0.jpg

"ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่ง เจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับ ตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิด ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2563 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว และยกฟ้องในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คอยติดตามครับว่า จะมีฝ่ายใดอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นหรือไม่ และคดีนี้จะจบลงอย่างไร

ที่สำคัญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับค่าปรับที่รับเงินจากประชาชนไปแล้วตั้งแต่ ปี 2563 อย่างไร ใบสั่งที่ออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีการชำระค่าปรับจะต้องทำอย่างไร และหลังจากที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาแล้ว สตช. จะยังคงออกใบสั่งโดยอาศัยประกาศฉบับดังกล่าวอีกหรือไม่

รอสำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงข่าวอย่างเป็นทางการนะครับ เกี่ยวกับใบสั่งที่ส่งไปรษณีย์มาให้ประชาชน จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และที่ประชาชนชำระเงินไปแล้วจะทำอย่างไร เรียกคืนได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ที่ออกใบสั่ง มีผลประโยชน์จากค่าปรับ หรือไม่ และหากมีจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ที่มาที่ไปของคดี
สำหรับคดีนี้ สำนักข่าวอิศราได้ให้รายละเอียดไว้ว่า 

เป็นคดีที่นางสุภา(ผู้ฟ้อง) ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นางสุภา ฟ้องว่า ตนเป็นเจ้าของรถยนต์และผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 ที่ออก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา นั้น การลงโทษผู้กระทำความผิดได้ จะต้องปราศจากข้อสงสัย

แต่ปรากฎว่ารูปแบบใบสั่งที่กำหนดขึ้นใหม่ตาม ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ได้ตัดสาระสำคัญในส่วนของการปฏิเสธการกระทำความผิดตามใบสั่ง บันทึกของผู้ต้องหา และบันทึกของพนักงานสอบสวน กำหนดไว้เพียงวิธีการชำระค่าปรับด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมทำให้ผู้รับใบสั่งเข้าใจว่า ตนมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับเท่านั้น ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานที่สำคัญทางอาญา และขัดต่อมาตรา 26 และมาตรา 29 ของรัฐธรรมฯ จึงเป็นการออกกฎที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้งคัดค้าน อีกทั้งทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการพิจารณาโทษตามข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แห่งการกระทำ

ศาลฯพิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศฯทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กับผู้บัญชาการสำนักงานตรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ยังมีสิทธิอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุดได้

ที่มา : https://www.sanook.com/news/9064334/