ท่ามกลางกระแสกองทุนประกันสังคม มีความเสี่ยงล้มละลายในอีก 30 ปี ข้างหน้า แม้ทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะออกมายืนยันว่ากองทุนประกันสังคม มีเสถียรภาพมั่นคง สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง และเพียงพอแต่ “เงินสมทบประกันสังคม 2567” ผู้ประกันตน มาตรา 33 เตรียมต้องจ่ายเพิ่ม สูงสุดเป็นหลักพัน
โดยตั้งแต่ปี 2567 กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอร่างกฎหมายปรับขึ้นเพดานเงินสมทบประกันสังคมเป็นขั้นบันได ซึ่งผู้ประกันตน มาตรา 33 ต้องจ่ายประกันสังคมเพิ่มจาก 750 เป็น 875-1,150 บาท/เดือน
ด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2538) ออกตามความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม ของผู้ประกันตน มาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2538 จนถึงปัจจุบัน จึงสมควรปรับปรุงให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น เพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มาก ไปสู่ผู้มีรายได้น้อย ภายในระบบประกันสังคม และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสังคม
“เงินสมทบประกันสังคม 2567” กระทรวงแรงงาน ได้ประกาศปรับเพดานเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรา 33 เพิ่มจาก 750 บาท/เดือน เป็น 875-1,150 บาท/เดือน แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 : ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567-31 ธ.ค. 2569 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 875 บาท/เดือน
ระยะที่ 2 : ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2570-31 ธ.ค. 2572 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,000 บาท/เดือน
ระยะที่ 3 : ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,150 บาท/เดือน
ทั้งนี้ การปรับเพดานเงินสมทบประกันสังคมในครั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้ปรับเพดานเงินสมทบทุก 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางกระแสข่าวกองทุนประกันสังคม อยู่ในภาวะความเสี่ยงล้มละลาย ในอีก 30 ปีข้างหน้า
ซึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับเพดานเงินสมทบในครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลต่อผู้ประกันตนที่มีรายได้มากกว่า 15,000 บาท ที่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่อการตัดสินใจจ้างงานของผู้ประกอบกิจการได้บ้าง
แต่ในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่จะได้เพิ่ม สำนักงานประกันสังคม เคลมว่า สิทธิประโยชน์ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น เงินทดแทนกรณีว่างงาน จะเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 8,750 บาท จากเดิม 7,500 บาท รวมทั้ง มีการเพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้จากการทุพพลภาพ, เพิ่มการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร และขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิมอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เป็น 65 ปีบริบูรณ์ เพื่อพัฒนาระบบ“ประกันสังคม” ให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ตอบโจทย์ของทุกกลุ่ม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนให้ดีขึ้น
ที่มา : https://today.line.me/th/v2/article/mW1NVWm