Wealth Sharing

TIA ปิดฉาก สัมมนาสัญจร ให้ความรู้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม “Class Action”


24 ตุลาคม 2566
TIA  ปิดฉาก สัมมนาสัญจร ให้ความรู้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม “Class Action” ครั้งที่ 3  จังหวัดสงขลา สุดคึกคัก   นักลงทุนตื่นเข้าร่วมฟังล้น!! ปลื้มจัดสัมมนาความรู้ 3 จังหวัดขอนแก่น-เชียงใหม่ และสงขลา  หวังเป็นกลไกหนึ่งในการดูแลและรับมือ "ภัยในตลาดเงิน และ ภัยในตลาดทุน

TIA  ปิดฉาก สัมมนาสัญจร.jpg

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ร่วมมือ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สัมมนาสัญจรให้ความรู้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม “Class Action” ครั้งสุดท้ายของปีที่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดสุดท้ายของปีนี้ โดยยังคงได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะจากกลุ่มนักลงทุน เนื่องจากจังหวัดสงขลาถือว่าเป็นพื้นที่ ที่มีบริษัทหลักทรัพย์(บล.)หรือโบรกเกอร์มาเปิดสาขา และมีปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากเป็นอันดับ 5 ของตลาดทุน และยังมี กลุ่มผู้นำทางสังคม-ทนายความ  กว่า 100 คน เข้าร่วมฟัง  

นายยิ่งยง  นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เปิดเผยว่า  สมาคมเดินหน้าให้ความรู้ และผลักดันให้กฎหมาย ฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action เข้ามาเป็นกลไกในการดูแล ช่วยเยียวยาผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหาย หากเกิดกรณีถูกฉ้อฉล ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการลงทุน โดยการจัดสัญจรครั้งสุดท้ายของปี ที่จังหวัดสงขลา ซึ่งยังคงได้รับความสนใจอย่าง มากโดยเฉพาะ จาก กลุ่มนักลงทุน กลุ่มโบรกเกอร์ กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมาย กลุ่มข้าราชการปกครองในภาคส่วนขบวนการยุติธรรม และกลุ่มสื่อมวลชน กว่า 100 คนเข้าร่วมสัมมนา

“สมาคม ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท)  จัดสัมมนาสัญญจรมาต่อเนื่อง และที่สงขลาถือเป็นครั้งที่ 3 และครั้งสุดท้ายของปีนี้ และได้รับความสนใจ สามารถส่งผ่านความรู้ในเรื่อง Class Action ผ่านการสัญจรให้เข้าถึงตามหัวเมืองสำคัญได้ดี โดยในการจัดสัญจรทั้ง 3 ครั้งมีผู้ร่วมเข้ารับฟังกว่า 300 คน “  นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกล่าว
ทั้งนี้หากดูตัวเลขสถิติการทำผิดในตลาดทุนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง  ส่วนกรณีของ STARK ที่ส่งผลกระทบวงกว้าง กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และในส่วนของสมาคมฯ ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้น STARK และมีผู้เสียหายมาลงทะเบียนกว่า 1,759 ราย ที่จะดำเนินการต่อไปภายใต้ กฎหมาย Class Action ก็มีความคืบหน้ามากขึ้น

ขณะที่ความคืบหน้าในการ  จัดตั้ง  “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์  ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action” ยังอยู่ในขบวนการจัดตั้ง  และอยู่ในการพิจารณาว่า มูลฐานความผิดที่จะเข้าข่ายและใช้ Class Action ได้ จะมีประมาณ 7 มูลฐานประกอบด้วย 1.ผิดสัญญา  2.การเปิดเผยข้อมูล 3.การเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต 4.การทุจริตของกรรมการและผู้บริหาร 5.การสร้างราคา 6.การใช้ข้อมูลภายใน และ 7.การครอบงำกิจการ

คุณมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประธานในการเปิดงานสัมมนาสัญจร กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยและธปท. จัดสัญจรให้ความรู้ประชาชนเรื่องภัยการเงิน และการลงทุน จังหวัด สงขลา เป็นเมืองที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจของภาคใต้ ซึ่งภัยทางการเงิน และการลุงทน อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลากับทุกคน  ดังนั้นการให้ความรู้ การมีมาตรการ และเครื่องมือเข้ามาช่วยก็จะสามารถดูแลประชาชนได้  และ  Class Action ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้รวมกลุ่มกันสู้กรณีถูกเอาเปรียบ ซึ่งสงขลาเป็นพื้นที่ที่มีโบรกเกอร์จำนวนมาก การจัดงานจึงจะเป็นประโยชน์ที่ดีต่อพี่น้องประชาชน

ดร.โสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาค ใต้ จังหวัด สงขลา กล่าวว่า สถิติการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1213 พี่น้องประชาชน ช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2566 มีประชาชนโทรเข้ามาทั้งสิ้น 29,574 สาย เป็นการแจ้งเบาะแส และร้องเรียนเกี่ยวกับภัยการเงิน 3,780 สาย 

ทั้งนี้ สถิติคดีออนไลน์ ก่อน พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (1 ม.ค. – 16 มี.ค. 66) เฉลี่ย 790 เรื่องต่อวัน ส่วนหลังมี พ.ร.ก. (17 มี.ค. – 31 ก.ค.66) เฉลี่ย 591 เรื่องต่อวัน ขณะที่สถิติการอายัดบัญชี ก่อนมี พ.ร.ก. (1 ม.ค. – 16 มี.ค. 66) มีการขออายัด 1,346 ล้านบาท อายัดทัน 87 ล้านบาท คิดเป็น 6.5% ซึ่งหลังมี พ.ร.ก. (17 มี.ค. – 31 ก.ค.66) มีการขออายัด 2,792 ล้านบาท อายัดทัน 297 ล้านบาท คิดเป็นอายัดได้ทัน 10.6% 
        
รศ.ดร. ปานทิพย์ พฤกษาชลวิทย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัย เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มสำหรับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า   Class Action มีผลบังคับใช้มานานแล้ว แต่ที่ยังไม่มีผลเชิงปฏิบัติ  เพราะทนายความยังไม่ค่อยให้ความสนใจ  ยังไม่ทราบว่ามีเรื่องของคดีกลุ่ม ซึ่งน่าจะมาจาก Class Action ยังเป็นเรื่องใหม่ อีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของค่าตอบแทนอาจไม่ค่อยคุ้มค่า ถึงแม้ว่ากฎหมายจะมีการกำหนดไว้ว่า 30% แต่ในทางปฏิบัติอาจจะได้ไม่ถึง 30% ทั้งหมด จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลว่าให้การพิจารณามูลค่าคดีที่ยื่นฟ้องจำนวนเท่าไร
 
ทั้งนี้ ทางสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ได้ดำเนินการเชิงรุกในการเดินสายให้ความรู้สร้างความเข้าใจ เรื่อง Class Action โดยประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาอยู่ในขบวนการของการดำเนินคดี  ทั้ง ร่วม สภาทนายความแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการจัดหลักสูตรให้กับทนายความ และผู้ที่มีความสนใจในสายวิชาชีพนี้โดยร่วมกับ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม จัดโครงการอบรมให้ข้าราชการศาล ซึ่งในการกิจกรรมการร่วมทั้งหมดได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และในการจัดหลักสูตรให้กับทนายความ ขณะนี้ การอบรมหลักสูตรทนายความ G1 (ขั้นพื้นฐาน) ได้ปิดหลักสูตรไปแล้ว และกำลังจะเปิดการอบรมหลักสูตรทนายความ G2 (ขั้นก้าวหน้า) เป็นลำดับไป
TIA