จิปาถะ

นายกฯย้ำ จ่ายเงินดิจิทัลงวดเดียว คัด 3 กลุ่มรับ 1 หมื่น-คนรวยส่อวืด


26 ตุลาคม 2566

‘เศรษฐา’  ย้ำ จ่ายเงินดิจิทัลงวดเดียว อนุฯ ชงคัด 3 กลุ่มรับ 1 หมื่น คนรวยส่อวืด คาดโอน เม.ย.ปีหน้า

นายกฯย้ำ จ่ายเงินดิจิทัลงวดเดียว.jpg

 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมพิจารณาข้อสรุปการแจกเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่เมื่อไหร่ว่า ยังไม่ทราบ ต้องถามนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อถามว่าได้มีการกำหนดไทม์ไลน์ไว้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้บอกว่ากลับจากต่างประเทศแล้วจะมีการพิจารณา นายเศรษฐากล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ได้มีการคุยเบื้องต้น ทีมงานได้คุยกับทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจะหาวิธีการปรับแต่งเติมตามที่ทุกภาคส่วนได้มีคำเสนอให้มา ต้องขอเจอก่อน

เมื่อถามว่านายกฯบอกว่าจะมีการปรับเงื่อนไขและต้องอธิบายให้ได้ ในส่วนที่บอกว่าคนรวยไม่ควรจะต้องได้รับเงินตรงนี้ นายเศรษฐากล่าวว่า ก็คืออย่างนั้น ใครจะบอกว่าใครคือคนรวย และคนรวยคือใคร เรื่องนี้รับฟังอยู่แล้วว่าจะมีการปรับตรงนี้ กำลังจะหาคำจำกัดความที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายว่า คำว่าคนรวยคืออะไร และน้อมรับคำแนะนำของผู้ว่าการ ธปท.อยู่แล้วว่าควรที่เจาะจงมากขึ้น บางภาคส่วนที่ไม่เดือดร้อนจะไม่ต้องรับตรงนี้ ต้องรับฟังความเห็น

เมื่อถามว่าข้อเสนอที่อยากให้รัฐบาลทบทวนเรื่องการจ่าย เป็น 3 งวด ดีกว่าจ่ายงวดเดียว ตรงนี้จะนำมาพิจารณาหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า พิจารณาแล้ว แต่คงจะไม่เอา คงจ่ายรวดเดียว เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินใหญ่ จะได้ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูแนวโน้มอาจจะเลื่อนการจ่ายเงินจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ไปอีก นายเศรษฐากล่าวว่า ก็กำลังดูอยู่ เมื่อถามว่าจะทันสงกรานต์นี้หรือไม่ หรือไตรมาสแรกนี้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า จะพยายามทำให้เร็วที่สุด เมื่อถามว่าในเรื่องของเม็ดเงินที่จะนำมาใช้จะใช้วิธีการออกพระราชกำหนดหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า เดี๋ยวขอประชุมก่อน เพราะคำถามนี้มาเยอะเหลือเกิน ถ้าพูดไปเดี๋ยวจะเกิดความสับสนอีก

ด้านกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปชัดเจนในหลายประเด็นแล้ว แต่ในบางประเด็นยังมีข้อขัดแย้ง ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีนายเศรษฐา เป็นประธาน สรุปรายละเอียดอีกครั้งในสัปดาห์หน้า และนัดวันประชุมอีกครั้ง ที่ยังไม่ชัดเจนว่าวันใด
นายจุลพันธ์กล่าวว่า โดยมติที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันนั้น ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยมีข้อเสนอแนะในการกำหนดกลุ่มผู้ที่จะได้รับสิทธิ ซึ่งต้องการให้ตัดกลุ่มคนรวยออก คณะกรรมการก็รับฟังและมีการปฏิบัติตาม โดยมีความเห็น 3 แนวทาง ดังนี้ 1.จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท 2.พิจารณาให้ตัดกลุ่มคนที่มีความพร้อมทางสังคม มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 1 แสนบาท จะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท และ 3.พิจารณาตัดผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 5 แสนบาท จะเหลือผู้ได้รับสิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท โดยจะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา

นายจุลพันธ์กล่าวว่า อีกวาระหนึ่งที่ยังสรุปไม่ลง คือ เรื่องของแหล่งเงิน ยังคงยืนยันว่า จะใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก คือใช้เงินในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณแผ่นดินประจำปี และดำเนินการเป็นลักษณะของงบผูกพัน โดยตั้งระยะเวลาโครงการเงินดิจิทัลไว้ราว 4 ปี ใช้เงินงบประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท ทำให้อาจต้องมีการชะลอการขึ้นเงินของร้านค้าบ้าง โดยใช้วิธีการจูงใจในร้านค้ายังคงอยู่ในระบบต่อเนื่องตลอดโครงการ ยิ่งใครอยู่นานก็จะยิ่งมีสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะมีการพิจารณารายละเอียดการจูงใจให้ร้านค้าในอยู่ระบบต่อไป

“ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นของโครงการที่จะใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 นั้น อาจจะให้โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ดำเนินการได้ล่าช้า ตามที่ร่าง พ.ร.บ.มีความล่าช้าไป 8 เดือนตามปฏิทินงบประมาณที่จะต้องเริ่มเดือนตุลาคม 2566 จึงเป็นไปได้ว่าโครงการเติมเงินดิจิทัลจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2567 อย่างไรก็ดี จะเร่งการดำเนินให้เร็วที่สุด ตามไทม์ไลน์เดิม” นายจุลพันธ์กล่าว


ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4251563