Wealth Sharing

“ศก.โลกชะลอ-สงคราม-ราคาพลังงาน” กดดัน เงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองลดครั้งแรกรอบ10 ปี


03 พฤศจิกายน 2566
สคฝ.ระบุ สิ้นเดือนส.ค.66 เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 15.96 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อน 1.32% ผลจากภาวะเศรษฐกิจ  ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนสูง  คาดแนวโน้มปีนี้หดตัวต่อเนื่อง

ศก.โลกชะลอ-สงคราม-ราคาพลังงาน.jpg
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มเงินฝากปรับตัวลดลง ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่เงินฝากมีการหดตัว โดยในปี 2564 มีเงินฝากอยู่ที่ 15.59 ล้านล้านบาท ปี 2565 อยู่ที่ 16.17 ล้านล้านบาท และล่าสุดเดือน ส.ค. 2566 อยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท ลดลง 212,688 ล้านบาทจากปีก่อน เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่การเติบโตของจำนวนเงินฝากลดลง -1.32% YTD

โดยกลุ่มคนที่มีเงินในบัญชีน้อยกว่า 5 หมื่นบาท มีกว่า 81 ล้านคน มากกว่า 80% ของจำนวนผู้มีเงินฝากทั้งหมด93.46 ล้านราย ด้านกลุ่มคนที่มีบัญชีเงินฝากมากกว่า 5 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีการปรับลดลง ทั้งจำนวนเงินฝาก และจำนวนผู้ฝากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งเป็นผลจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบกับผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่มาก ต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย จนอาจทำให้สุขภาวะที่ดีทางการเงินอ่อนแอลงได้ หรือแม้แต่ในกลุ่มผู้ฝากรายใหญ่ที่เริ่มมีตัวเลขเงินฝากลดลงในปีนี้ ซึ่งเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันจากภาวะสงคราม ราคาพลังงานปรับตัวสูง และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ของโลก ต่างกำหนดนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูง ส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุน
 
ประกอบกับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนสูง โดยคาดว่าในปีนี้จะมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาพรวมสินเชื่อที่ยังเติบโตในกรอบต่ำ ขณะที่จำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 93.46 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3.05 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 3.37% โดยปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามที่กฎหมายกำหนด 1 ล้านบาท ยังคงสามารถคุ้มครองผู้ฝากเงินได้เต็มจำนวน ครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน  98.09% ของผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ

ดังนั้นสถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2570) ในหลายเรื่อง รวมถึงการถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาให้เกิดความเข้าใจถึงการบริหารจัดการและแนวทางในการกอบกู้สถานการณ์เหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงิน นอกจากนี้สคฝ. ยังคงตอกย้ำวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและผู้ฝากเงิน 

โดยโดยวางเป้าหมายการดำเนินงานปี 2567 ที่สำคัญ อาทิ การประมวลผลข้อมูลผู้ฝากจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากให้มีความถี่ขึ้นและความร่วมมือกับธนาคารเฉพาะกิจในการเป็น Paying Agent, การเตรียมกระบวนการด้านชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์ 

รวมถึงการพัฒนาสัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝากให้ครอบคลุมการแสดงบนช่องทางบริการทางการเงินดิจิทัล และรองรับการจัดตั้งสถาบันการเงินในรูปแบบธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ฝากและประชาชนมั่นใจในสถาบันการเงินที่ผู้ฝากใช้บริการและเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินของประเทศ

นอกจากนี้การสื่อสารประชาสัมพันธ์ยังมุ่งเน้นเรื่องการเสริมสร้างทักษะทางการเงินให้กับผู้ฝากและประชาชนผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และหน่วยงานพันธมิตรในอุตสาหกรรมการเงินอื่นๆ อีกหลายแห่ง อาทิ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นต้น รวมถึงการผลิตบอร์ดเกม “Cash Up” สื่อการเรียนรู้ที่ให้ทั้งสาระและความบันเทิง ซึ่งจะช่วยนำพาความรู้ทางการเงินและการคุ้มครองเงินฝากให้สามารถเข้าถึงผู้ฝากและประชาชนได้ง่ายขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายหลักในเฟสที่ 1 นั้น เน้นที่ภาคการศึกษา ระดับมัธยมปลาย – อุดมศึกษา โดยสถานศึกษาที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับบอร์ดเกมฟรี ผ่านช่องทาง Facebook ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก