จิปาถะ

จ่อชงคลังขอสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ร่วมพักหนี้-ชดเชยดอกเงินกู้ 4.5% นาน 3 ปี


03 พฤศจิกายน 2566

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผย รมว.เกษตรฯ เตรียมชง ก.คลัง ดึงสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ร่วมมาตรการพักชำระหนี้ แบบเดียวกับลูกค้า ธ.ก.ส. โดยอยู่ระหว่างสำรวจข้อมูลหนี้ พร้อมเสนอรัฐบาลขอชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้สหกรณ์และ กลุ่มเกษตรกรร้อยละ 4.5 นาน3 ปี 

จ่อชงคลังขอสมาชิกสหกรณ์การเกษตร.jpg

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยตามนโยบายของรัฐบาลว่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการพักชำระหนี้ให้ครอบคลุมในส่วนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศด้วย โดยสั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในช่วงที่ผ่านมา

พบว่าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ 9,359 แห่ง สมาชิกรวม 12.04 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอส่งชำระหนี้คืนสหกรณ์ ระดับหนี้สินครัวเรือนของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ย 203,520 บาท/คน เพิ่มเป็น 209,865 บาท/คน ในปี 2565 ดังนั้นนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคเกษตรจึงควรดูแลครอบคลุมถึงเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกับเกษตรกรรายย่อยลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. ที่มีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท โดยพักทั้งต้นและดอกเบี้ย

สำหรับแนวทางในการบรรเทาภาระหนี้ให้กับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร จะดำเนินการควบคู่กับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เพียงพอส่งชำระหนี้ภายหลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล เบื้องต้นกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สำรวจสมาชิกสหกรณ์ที่จะเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ โดยจะต้องมีหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 รายละไม่เกิน 300,000 บาท คาดว่ามีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขดังกล่าว จำนวน 707,213 ราย มูลหนี้รวม 88,131.33 ล้านบาท

อีกทั้งจะขอความเห็นชอบรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรแทนสมาชิก ในอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 - 30 กันยายน 2569 โดยเป็นการขอชดเชยดอกเบี้ยปีต่อปี และจะมีการสำรวจความประสงค์ของสมาชิกที่จะเข้าร่วมโครงการในแต่ละปีตลอดในช่วงระยะเวลาของการดำเนินโครงการดังกล่าว คาดว่าจะใช้งบประมาณในการชดเชยดอกเบี้ยให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรรวม 4,296 ล้านบาท ขณะนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สรุปตัวเลขและแนวทางบรรเทาปัญหาหนี้สินผ่านสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เสนอไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะเลขานุการคณะทำงาน เพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรฯ และเตรียมนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-policy/2737670