จิปาถะ

นายกฯ สั่ง ก.แรงงาน ศึกษาเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ-เงินเดือนขรก. เหตุไม่ได้ปรับมานาน


06 พฤศจิกายน 2566

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า เรื่องดังกล่าวมีเอกสารสั่งการใช้ศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในการที่จะดูในเรื่องของเงินเดือน ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำอยู่ ซึ่งถ้าจะยกระดับก็ต้องดูทั้งหมดในทุกภาคส่วน ได้มอบให้คณะทำงานศึกษาและมารายงานกลับ ภายในสิ้นเดือนนี้ว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร

นายกฯ สั่ง ก.แรงงาน.jpg

ผู้สื่อข่าวถามว่านอกจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการขึ้นค่าแรง หลังศึกษาแล้วจะมีกรอบหรือไม่จะขึ้นภายในปีงบประมาณไหน นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องมานั่งดูอีกที ถึงได้บอกว่าต้องมีการศึกษาเกิดขึ้น ซึ่งสืบเนื่องตามที่เคยพูดไปแล้วว่าเงินเดือนของข้าราชการและค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขึ้นมานานแล้ว เพราะปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นเยอะ เราก็เป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะสอดรับในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า หลักการถือว่าสอดคล้อง แต่จำนวนเงิน เปอร์เซ็นที่ขึ้นก็ต้องว่ากันไปแต่ละภาคส่วน

เมื่อถามย้ำว่า ในส่วนของแรงงานจะขยับขึ้นได้เมื่อไหร่ อย่างไร เพราะ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ระบุว่าอาจจะไม่ได้ 400 บาทในทุกพื้นที่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวต้องมาฟัง รมว.แรงงานอีกครั้งหนึ่ง ถึงได้บอกว่าต้องมีการศึกษาอีกครั้งทั้งหมด

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ในเดือน ธ.ค.นี้ กระทรวงแรงงานจะประกาศการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับแรงงานทั่วประเทศไทย แต่คงไม่ถึงวันละ 400 บาท ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยประกาศไว้ เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลเบื้องต้นโดยนำเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาประกอบกัน พร้อมทั้งการเดินสายรับฟังความคิดเห็นของนายจ้าง และลูกจ้าง การปรับขึ้นค่าจ้างรอบนี้แต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นไม่เท่ากัน โดยปรับสูงสุดคือหลักสิบเท่านั้น

“การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำรอบนี้ แม้จะไม่เพิ่มถึงวันละ 400 บาท แต่ก็เป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ใช้แรงงาน ขณะเดียวกันยังช่วยให้นายจ้างไม่ได้รับผลกระทบหนักมากจากการขึ้นค่าแรงดังกล่าวนัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง หรือเอสเอ็มอี ที่มีจำนวนมาก อาจต้องปลดแรงงานลงหากปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นไปสูงถึงวันละ 400 บาท แต่การปรับขึ้นค่าจ้างงวดต่อไปในช่วงสิ้นปี 2567 อาจจะเห็นค่าจ้าง 400 บาทได้ แต่ก็เป็นการขึ้นเพียงบางจังหวัดเท่านั้น”

สำหรับปัจจุบัน จังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดในประเทศไทย มีอยู่ด้วยกัน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ระยอง, ชลบุรี และภูเก็ต โดยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 354 บาท รองลงมาคือ ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เป็นต้น

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เพื่อให้ได้ตัวเลขที่แท้จริงและเป็นธรรมก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ที่มีตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลนั้น ล่าสุดได้สั่งการไปยังแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด ให้ทำการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการจ้างงานในกิจการต่างๆในจังหวัด ทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่