จับประเด็นหุ้นเด่น
สัมภาษณ์พิเศษ : PJW ผลงานเทิร์นอะราวด์ “บรรจุภัณฑ์-ลอนดรี้-การแพทย์”โตแกร่ง
06 พฤศจิกายน 2566
“วิวรรธน์ เหมมณฑารพ” ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) เปิดใจแนวทางการทำธุรกิจมั่นใจผลงานปีนี้กลับมาเทิร์นอะราวด์ โดยบรรจุภัณฑ์รับปัจจัยบวกท่องเที่ยวกำลังซื้อในประเทศ ธุรกิจลอนดรี้ฐานลูกค้าแข็งแกร่ง และธุรกิจเกี่ยวกับการแพทย์ที่คู่แข่งน้อย
บริษัท PJW ทำธุรกิจอะไรบ้าง
ปัจจุบัน 70% ทำบรรจุภัณฑ์ อีก 30% ทำชิ้นส่วนยานยนต์ และหากแยกจะพบว่า อีก 50% เป็นบรรจุภัณ์ในน้ำมันหล่อลื่น อีก 35% เป็นบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ใน Food เช่น ขวดนม นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม อีก 5% เป็น Consumer Product น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า และสินค้าเคมี อีก 30% เป็นชิ้นส่วนยานยนต์ ลูกค้าของเราเป็นบริษัทชั้นนำ เช่น ปตท. เอสโซ่ เป็นต้น
สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ที่เราทำ เช่น กันชน สปอยเลอร์ ด้านอุปกรณ์ภายใน เช่น ท่อแอร์ ชิ้นส่วนในรถ และยังมีบริษัทลูกทำเรื่องซักรีด แม้ยอดขายยังไม่มาก แต่ก็เป็นธุรกิจที่มีอนาคตดีมาก
ธุรกิจใหม่อย่างลอนดรี้มีความน่าสนใจอย่างไร
ก่อนที่เราจะเราจะไปซื้อ เรามองว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีขั้นสูงหรือไม่ หรือเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งหลังจากเราศึกษา พบว่า เรื่องเทคโนโลยีไม่ได้ซับซ้อนแต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการให้ได้คุณภาพคงที่ ได้มาตรฐาน มีความสะอาด ปลอดภัยปลอดเชื้อ
ซึ่ง PJW เก่งเรื่องโรงงาน เรามีระบบ TQM คือเป็นระบบการจัดการคุณภาพ หรือหากเป็นมาตรฐานในญี่ปุ่น จะใช้ TPM ซึ่ง PJW ได้รับมาตรฐานจากญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2015 ดังนั้นเรามีความก้าวหน้า ทำให้เราเห็นช่องทางในการทำกำไรจากธุรกิจนี้
ส่วนลูกค้า เรามองที่ โรงพยาบาล โรงแรม โดยช่วงที่เราเข้าไปเป็นช่วงของโควิด จึงมีเวลา 1 ปี ในการปรับตัว และฐานลูกค้าเดิมของบริษัท มีความแข็งแกร่ง โดยโรงพยาบาลที่เป็นลูกค้า เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และยังมีโรงแรมหลายแห่ง รวมทั้งบริษัทการบินไทย ก็เป็นลูกค้า สะท้อนว่า บริษัทนี้ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงมาก ดังนั้นเราจะขยายตลาดต่อ ทำให้เราเชื่อว่าเราแข่งขันได้และเราจะชนะ แม้ผลงานปี 2565 ยังขาดทุน แต่ปีนี้จะไม่ขาดทุน และปี 2567 เชื่อว่าจะมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ เพราะได้รับการยอมรับสูงมากทั้งในด้านของคุณภาพและชื่อเสียง
ภาพรวมธุรกิจเป็นอย่างไร
ปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วภาพรวมธุรกิจเราเติบโตเพิ่มขึ้นมาก ครึ่งปีที่ผ่านมา ผลงานทำได้เท่ากับปี 2565 ทั้งปี ผลงานปี 2023 จะเท่ากับ ปี 2021
กลไกที่สนับสนุน
ได้แก่ การท่องเที่ยวที่ดีขึ้นได้รับการกระตุ้นจากรัฐบาลมากขึ้น เซมิคอนดักเตอร์ของชิ้นส่วนยานยนต์ที่น่าจะดีขึ้น ค่าไฟเริ่มลดลง ปีนี้ปัจจัยเชิงบวกเยอะ ส่วนปี 2567 ในด้านการตลาด เติบโตทุก Sector ทั้งบรรจุภัณฑ์ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะสินค้าเราจะเติบโตไปกับ GDP ซึ่งรัฐบาลมั่นใจจะออกมาตรการทำให้GDP เติบโตกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินค้าของเรา
ธุรกิจอะไรที่เป็นดาวเด่นในปี 2566
ธุรกิจที่เด่นจริงๆจะเป็นตัว ชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะเซมิคอนดักเตอร์ที่เติบโตมากขึ้น และการลงทุนในประเทศจีน ที่เคยเป็นปัจจัยกดดันผลงานของบริษัทในปีที่แล้ว จากการปิดโรงงานในปีที่แล้ว ซึ่งปีนี้แม้จะยังมีภาระขาดทุนอยู่ แต่ก็ลดลงมาก ขณะที่ธุรกิจลอนดรีย์ปีนี้ไม่ขาดทุน ทำให้ผลงานของบริษัทในปีนี้ปรับตัวดีขึ้น
อุตสาหกรรมยานยนต์ยังหดตัวแต่ทำไมบริษัทถึงมียอดขายมากขึ้น
เนื่องจากบริษัทมี Market Share มากขึ้น จากรถ 1 คัน ที่เคยขายชิ้นส่วนได้ 3 ชิ้น แต่ปัจจุบันขายชิ้นที่ 4 และ 5 ได้ จากการที่มีต้นทุนที่แข่งขันได้บนคุณภาพที่ดี ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมมากขึ้น และปี2567 -2568 ยานยนต์ยังดีต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 30% ของรายได้รวมของบริษัท แต่ในอนาคตจะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น จากตลาดที่เติบโตและฐานลูกค้าใหม่ที่เพิ่มเข้ามา
ด้านบรรจุภัณฑ์ น้ำมันเครื่อง ยังเติบโตตามตลาด แม้รถEV จะมียอดขายเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เร็วมาก ใน 2-3 ปี ยังไม่เห็นผลกระทบ
ปัญหาที่เราห่วงในระยะสั้นคืออะไร
เป็นเรื่องของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก แม้ในเชิงดีมานด์แม้จะทำให้ส่งออกดีขึ้น ท่องเที่ยวอาจได้รับผลดี หากเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย แต่ในด้านของต้นทุนได้มีผลกระทบเรื่องต้นทุนเม็ดพลาสติก ซึ่งในระยะสั้นหากเงินบาทอ่อนค่า ทำให้วัสดุแพง แม้จะปรับราคากับลูกค้าได้ แต่เป็นเฉพาะไตรมาสต่อไตรมาส
2. สงคราม ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
3.เศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยังต้องติดตาม เพราะกระทบต่อกำลังซื้อของเศรษฐกิจโลก
มองภาพธุรกิจ PJW ปีหน้า
ในด้านยอดขายเชื่อว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 15% และด้าน GP ดีขึ้น 2-3% ทำให้ภาพรวมปีหน้าของบริษัทจะดีมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ปี 2567 จะมีธุรกิจเพิ่มอีกหรือไม่
เราถูกถามเยอะมากว่า ถ้า EV เข้ามาเราจะเป็นอย่างไร ซึ่งบริษัทมียอดขายบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่อ ประมาณ 1,500 ล้านบาท บริษัทจะดูแลอย่างไร ซึ่งจากการศึกษาเชื่อว่าอย่างน้อยอีก 5 ปี เราก็ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่เราไม่ประมาท เราจะหาธุรกิจทดแทน ได้แก่ ธุรกิจทางการแพทย์ เช่นไซริงค์ และตอนนี้ทำเรื่อง การเติมความชื้นในออกซิเยน ซึ่งสอดคล้องกับสังคมผู้สูงวัย ภูมิแพ้อากาศ
ซึ่งเรามีจุดแข็ง จากที่เรามีห้อง Clean Room ที่ทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมเปรี้ยวอยู่แล้ว เราก็ได้ยกระดับขึ้นมา เพื่อทำสินค้าทางการแพทย์ ให้รองรับธุรกิจทางการแพทย์ ทั้งเครื่องมือ บุคลากร ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนทำการทดสอบ เพื่อให้ได้มาตรฐานของอย. คาดว่าจะเริ่มขายได้ปลายไตรมาส 2 ปี 2667 มูลค่าตลาดในไทยของธุรกิจนี้ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งเราคาดว่าเราจะมีส่วนแบ่งประมาณ 100 ล้านบาท แต่เรามองตลาดในอาเซียนไม่ได้มองเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น