จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : TSE รับอานิสงส์แนวทางผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนเติบโตแกร่ง


08 พฤศจิกายน 2566
แนวโน้มและทิศทางการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางในต่างประเทศ หนุน TSE รับอานิสงส์ ซึ่งตั้งเป้าเข้าประมูลโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รอบ 2 ของกกพ.  ดันรายได้ทำสถิติขยับขึ้นไปแตะ 3,000 ล้านบาท

รายงานพิเศษ TSE.jpg

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ SCB EIC  ระบุ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทยยังมีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มนอกระบบการไฟฟ้า (ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากทั้งในและนอกระบบการไฟฟ้า ขยายตัวราว 17% ต่อปี และในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 12%) ปัจจัยสำคัญมาจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งจากกลุ่มที่ผลิตเพื่อขายลูกค้าโดยตรง (Private PPA) และกลุ่มที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง

แนวโน้มในระยะข้างหน้า คาดว่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง หากพิจารณาจากแผน PDP ใหม่ที่คาดว่าจะเปิดเผยในปี 2567 กำลังการผลิตของกลุ่มแสงอาทิตย์ และพลังงานลมเพิ่มขึ้นอย่างมากจากแผนเดิม (PDP2018Rev1) ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจาก Biomass/Gas/Waste มีข้อจำกัดในการเติบโต เนื่องจากในปัจจุบันวัตถุดิบที่นำมาผลิตไฟฟ้าสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่าได้ ผนวกกับราคารับซื้อไฟ PPA ยังไม่จูงใจ นอกจากการเติบโตในตลาดไทยแล้ว 
          
สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศก็มีโอกาสเติบโตเช่นกัน ทั้งกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม (ส่วนหนึ่งมาจากเป้าหมายการลด GHG และ Net zero pathway ของหลายประเทศทั่วโลก) ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการลงทุนในตลาดต่างประเทศ เช่น ตลาดอินเดีย สำหรับกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ ตลาดเวียดนามและไต้หวัน สำหรับกลุ่มพลังงานลม เป็นต้น

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยหลักมาจากปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น  แต่สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจของ บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE)  ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นและมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า และเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆของรัฐ

โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “แคทลีน มาลีนนท์” ระบุถึงการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าว่า บริษัทฯ มีความพร้อมอย่างมาก ที่จะเข้าร่วมการประมูลโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รอบ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จำนวน 3,663 เมกะวัตต์  ซึ่งขณะนี้รอประกาศกฎเกณฑ์จากภาครัฐ หากมีการประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าเฟส 2 แล้ว บริษัทฯ พร้อมเข้าร่วมประมูลทันที

โดยบริษัทตั้งเป้าจะชนะการประมูลเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์  ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้ลงนามในหนังสือบันทึกข้อตกลงรับทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tarif (FT) โดย กกพ.  ปี 2565-2573 จำนวน 7 โครงการ มีขนาดกำลังผลิตขายไฟรวมกว่า 88.66 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการขนาด SPP จำนวน 2 โครงการ, โครงการ VSPP จำนวน 4 โครงการ และโครงการโซลาร์และแบตเตอรี่ จำนวน 1 โครงการ
          
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือรวม 286.20 เมกะวัตต์ ขณะที่แผนการเติบโต 5-7 ปีตั้งเป้าจะมีการผลิตกำลังไฟฟ้ารวม 500 เมกะวัตต์ โดยมองโอกาสการเติบโตทั้งการจัดหาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ภายใต้แผน PDP, การขยายการลงทุนหรือร่วมลงทุนโซลาร์ฟาร์ม, การเข้าซื้อกิจการโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน รวมถึงโครงการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ ทั้งพลังงานลมและโซลาร์ฟาร์ม เพื่อสร้างศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
         
และบริษัทยังมีแผนรุกธุรกิจ Private PPA เพื่อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนอาคารของผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา รวมถึงอาจจะมีการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าใหม่ ก็อาจจะส่งผลให้มีจำนวนกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
         
ทั้งนี้บริษัทคาดการณ์รายได้รวมในปีนี้ (รวมส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้า) จะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยขยับขึ้นไปแตะระดับ 3,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 1,974 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการรับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โอนิโกเบ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่จังหวัด มิยางิ ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตติดตั้งเสนอขาย 133 เมกะวัตต์ ได้เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
TSE