จิปาถะ

‘อุ๊งอิ๊ง’ รุกซอฟต์เพาเวอร์ปั้น 7 หมื่นเชฟ 1 หมู่บ้าน 1 ร้านอาหาร


16 พฤศจิกายน 2566

‘อุ๊งอิ๊ง’ รุกซอฟต์เพาเวอร์ปั้น 7 หมื่นเชฟ 1 หมู่บ้าน 1 ร้านอาหาร ลั่นช่วยคนไทยพ้นความยากจน

‘อุ๊งอิ๊ง’ รุกซอฟต์เพาเวอร์ปั้น.jpg

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่แกรนด์ฮอลล์ โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจัดสัมมนา Thailand 2024 Beyond Red Ocean ซึ่งช่วงหนึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ บรรยายพิเศษหัวข้อ Soft Power The Great Challenger ว่า คำว่าซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) นั้นมีคนพูดถึงกันเยอะ ทั้งคำนิยาม เหตุผลที่จะทำ รูปแบบการดำเนินการ สำหรับซอฟต์เพาเวอร์ในมุมของรัฐบาล มองว่าเป็นอำนาจหนึ่งที่จะโอบรับวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้ โดยไม่มีการบีบบังคับ อาทิ แบรนด์แอปเปิล หรือไอโฟน มีราคาแพงขึ้นในทุกรุ่น โดยที่คนซื้อก็ไม่มีใครบีบบังคับ รวมถึงสินค้าอื่นด้วยที่ได้รับความนิยม หรือตัวอย่าง ลิปสติกของผู้หญิงของไทย มีหลายแบรนด์ เมื่อเทียบกับแบรนด์ต่างชาติ แมค บอบบี้ บราวน์ แล้วสินค้าคล้ายกันแถมราคาสูงกว่า แต่ทำไมคนยังเลือกซื้อแบรนด์ต่างชาติอยู่ นั้นเพราะคุณค่าแบรนด์นั้นตรงใจคนซื้อ จึงเกิดความภักดีในตราสินค้า ดังนั้น เป็นธรรมดาที่แบรนด์จะสร้างนวัตกรรมหรือเนื้อหา มาโอบรับค่านิยมต่างๆ

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไทย คือ จะทำอย่างไรให้ต้นทุนวัฒนธรรมที่ไทย มีการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ที่นำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้อย่างไรโดยก่อนจะมีซอฟต์เพาเวอร์ได้ ต้องมี 1.ต้นทุนทางวัฒนธรรม คือ เรื่องของการสร้างสรรค์เรื่องราวของสินค้า 2.คุณค่าทางการเมือง การปลดล็อก หมายให้เอื้อต่อการสนับสนุนการทำซอฟต์เพาเวอร์ และ 3.นโยบายการต่างประเทศ หรือการช่วยส่งออกวัฒนธรรมไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ในไทยเองมีการริเริ่ม สิ่งที่คล้ายกับซอฟต์ เพาเวอร์ไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน เช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป โครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก เป็นต้น

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ส่วนแรกที่รัฐบาลจะพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ด้วย การจัดตั้งองค์กรไทยแลนด์ ครีเอทีฟ คอนเทนต์ เอเยนซี่ (ทักก้า) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของรัฐบาลและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการ ซึ่งใช้คนที่รู้จริง อยู่กับการผลิตงานซอฟต์เพาเวอร์มาให้คำปรึกษา อาทิ อุตสาหกรรมหนังสือ ที่เล็งเห็นว่าจะนำหนังสือภาษาไทยที่โดดเด่น แปลเป็นภาษาอื่นๆ ด้วย โดยขณะนี้คณะกรรมการอยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อจัดตั้งทักก้า คาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาได้ช่วงกลางปี 2567

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า รวมถึงการพัฒนาคน ผ่านการดำเนินนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ (One Family One Soft Power หรือ OFOS ส่งเสริมการพัฒนาเพิ่มทักษะบุคลากรผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้าน ช่วยยกระดับรายได้ประชากรต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 16,000 บาทต่อเดือน เพื่อก้าวพ้นเส้นความยากจน จากปัจจุบันที่ประชากรมีรายได้ต่อครัวเรือน 11,200 บาทต่อเดือน

น.ส.แพทองธารกล่าวอีกว่า ปัจจุบันนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ ได้นำร่องโครงการย่อยไปแล้ว คือ โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 ร้านอาหารไทย ตั้งเป้าไว้ว่าจะอบรมประชาชน 7 หมื่นคน โดยที่มีเชฟชื่อดังเข้าร่วมเพื่อจะสร้างเชฟมาตรฐาน ด้านกีฬา ก็ได้ยกระดับ มวยไทย ให้มีหลักสูตรชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้พร้อมเข้ากับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการต่างประเทศเชิงรุก ซึ่งขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน ได้ร่วมกันรับผิดชอบดำเนินงานส่วนนี้อยู่ด้วย

“ทั้งหมดนี้เป็นภาพใหญ่ให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรกับซอฟต์เพาเวอร์อยู่ ซึ่งซอฟต์เพาเวอร์นั้นไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน ไม่ใช่เรื่องมีทางลัด หรือเร่งกระบวนการได้ แต่ตอนนี้รัฐบาลเริ่มแล้ว เอกชนก็เริ่มแล้ว ต่างประเทศเองก็พร้อมที่จะเปิดรับ ดังนั้น อยากจะบอกว่ารัฐบาลจะทำยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไทยให้กลับมามีตัวตนอีกครั้ง และพร้อมที่จะยกระดับชีวิตของประชาชนไทยสู่สายตาคนทั้งโลกอีกครั้ง” น.ส.แพทองธารกล่าว

ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_4284866