‘ครม.’ ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก กม.เช็ค เน้นเอาผิดทางแพ่ง พร้อมใช้มาตรการคู่ขนาน แยกคนจงใจงดใช้เช็ค-เพิ่มโทษปรับ
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรวงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ การออกร่าง พ.ร.บ.เพื่อยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยสาระสำคัญเป็นการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็ค 2534 ทั้งฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการจัดให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และสอดคล้องกับข้อ 11 ของกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่กำหนดให้บุคคลจะถูกจำคุกได้ เพียงเพราะเหตุไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้
นายชัยกล่าวว่า หลังปี 2534 มีข้อตกลงนานาชาติหลายอย่าง และมีหลักการว่าการไม่สามารถเอาเช็คไปขึ้นเงินได้ ความผิดแค่นี้เป็นความผิดทางแพ่งก็พอ ไม่ควรจะติดคุก ดังนั้นกระทรวงยุติธรรมจึงเสนอ ครม.เพื่อยกเลิก พ.ร.บ.เดิม แต่มีสังเกตจากสมาคมธนาคารไทย ให้กระทรวงยุติธรรม หาวิธีหรือมาตรการในการปฏิบัติควบคู่กัน โดยสมาคมธนาคารเห็นด้วยในหลักการว่าบุคคลที่ปฏิบัติผิดสัญญาทางแพ่ง ย่อมไม่สมควรได้รับโทษทางอาญา แต่ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับ เพราะปกติการฟ้องทางแพ่งอย่างเดียว กระบวนการฟ้องและเรียกเงินคืนจะช้าและเสียเวลา ไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหนี้ หากยกเลิกไปทั้งหมด เจ้าหนี้อาจจะมีปัญหาและอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม
จึงควรกำหนดโทษสำหรับผู้ที่เจตนาออกเช็คโดยไม่สุจริต แยกคนที่ตีเช็คจริงแต่อาจหมุนเงินไม่ทัน กับคนที่จงใจให้เช็คไม่ผ่าน คือ ทุจริตต้องแยกกัน เพื่อเป็นการคุ้มครองเจ้าหนี้ด้วย จึงขอให้มีมาตรการคู่ขนาน เช่น เช็คของใครเด้งเมื่อไหร่ ต้องส่งข้อมูลของคนที่จ่ายเช็คเด้งไปที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เพื่อให้สถาบันการเงินอื่นได้ข้อมูลไปประกอบ ว่าต่อจากนี้คนที่จ่ายเช็คเด้ง อาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เช็คอีก หรือกำหนดค่าปรับให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และห้ามบุคคลนั้นไม่ให้ใช้เช็ค 3 ปี เป็นต้น โดยให้กระทรวงยุติธรรมนำไปหาแนวทางปฏิบัติต่อไป