ตลท. เอาจริง! ออกเกณฑ์คุมชอร์ตเซล ยืมหุ้นขายไร้ของต้องโชว์หลักฐานใน 15 วัน
รายงานข่าวระบุว่า นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดความกังวลในเรื่องของธุรกรรมที่ใช้โปรแกรมซื้อขายอัตโนมัติ หรือชอร์ตเซล และการยืมหุ้นมาขายเพื่อลงทุนช่วงที่ราคาหุ้นปรับลดลง แต่ไม่มีหุ้นในมือ หรือ Naked Short ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นไทย และความไม่เป็นธรรมต่อนักลงทุนรายย่อยนั้น จนล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกประกาศให้ใช้อำนาจปรับเกณฑ์และเพิ่มระบบตรวจสอบ ยกระดับมาตรการดูแลการขายชอร์ตเซลนั้น ตลท.ได้เริ่มจากการตรวจสอบบัญชีกองทุนรวมแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (Omnibus Account) ซึ่งที่ผ่านมาเป็นช่องโหว่ในการขายชอร์ตแบบไม่มีหุ้นจริง (Naked Short) ผ่านการสั่งบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ให้ส่งหลักฐานการยืมหุ้นของลูกค้าที่ขายชอร์ตภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการทำ Naked Short และจะมีการดำเนินการทางวินัยกับโบรกเกอร์ต่อไป
พร้อมกันนี้ได้เตรียมตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อกำกับดูแลการทำงานของตนเองเกี่ยวกับ Naked Short และโปรแกรมเทรด ซึ่งคณะกรรมการจะประกอบด้วย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก อาทิ ตลาดหุ้นเกาหลี หรือตลาดหุ้นแนสแด็ก รวมถีงตลท.จะทบทวนประเด็นความเท่าเทียมและความเป็นธรรมระหว่างคนที่ใช้โปรแกรมเทรดและคนที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมเทรด ในการเปรียบเทียบหลักเกณฑ์กับตลาดหุ้นต่างประเทศเพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลต่อไป นอกจากนี้ ประเด็นการพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดราคาทำชอร์ตเซลด้วยราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เพื่อไม่ให้เกิดการดัมพ์ราคา ทางตลท.ได้มีความเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการ Uptick Rule เนื่องจากมองว่าการซื้อขายในตลาดหุ้นยังเป็นไปตามปกติ ไม่ได้เกิดปัญหาด้านเทคนิค แต่ดัชนีหุ้นปรับลดลงจากปัจจัยด้านพื้นฐาน
เขากล่าวต่อในตอนท้ายว่าที่ผ่านมา ตลท.ร่วมมือกับ ก.ล.ต.ตรวจจับ Naked Short รวมถึงส่งหนังสือเวียนเพื่อเน้นย้ำไปยังบริษัทสมาชิก บริษัทที่ไม่ใช่สมาชิก และผู้ดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ (Custodian) โดยขอความร่วมมือให้ดูแลการขายชอร์ตจะต้องมีหุ้นในการครอบครองอย่างถูกต้อง แม้ตลท.จะไม่มีนิติสัมพันธ์โดยตรงกับนักลงทุน แต่สามารถกำกับดูแลผ่านบริษัทสมาชิก หากสมาชิกไม่สามารถดูแลให้ลูกค้าปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะมีการดำเนินทางวินัยกับบริษัทสมาชิก ซึ่งโทษมีตั้งแต่ปรับ ภาคทัณฑ์ ตักเตือน ไปจนถึงระงับการซื้อขายด้วย