นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแถลงเรื่องแก้หนี้นอกระบบในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ และหนี้ในระบบวันที่ 12 ธันวาคม เพื่อให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบและบูรณาการทำงานร่วมกัน เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนจะเกิดผลสำเร็จโดยเร็ว โดยกระทรวงการคลังได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้กับประชาชนรายย่อยในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม กระทรวงมหาดไทยจะเปิดลงทะเบียนช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเร่งสรุปพิจารณามาตรการสนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยมาตรการที่ออกมาจะช่วยเหลือทั้งลูกหนี้ในระบบและนอกระบบ จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐหรือแบงก์รัฐเข้ามาร่วม ส่วนธนาคารพาณิชย์จะใช้แนวทางการขอความร่วมมือ
นายลวรณกล่าวว่า สำหรับมาตรการในการร่วมแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กระทรวงการคลังจะพยายามเปิดช่องทางให้ลูกหนี้นอกระบบได้เข้ามาอยู่ในระบบให้มากขึ้น ให้แบงก์รัฐเป็นหน่วยงานเปิดรับลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากที่สุด
“หน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหานอกระบบนี้ จะเป็นหน่วยงานฝ่ายปกครอง เช่น กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนในทุกพื้นที่มากที่สุด เมื่อหน่วยงานดังกล่าวสามารถเข้าไปปิดช่องปัญหาหนี้นอกระบบได้แล้ว กระทรวงการคลังจะเป็นหน่วยงานเสริมที่จะทำให้ลูกหนี้มีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งทุนได้มากที่สุด” นายลวรณกล่าว
นายลวรณกล่าวว่า ขณะที่มาตรการในการร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ กระทรวงการคลังจะขอความร่วมมือไปยังแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์เข้าไปช่วยลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ เบื้องต้น ต้องประเมินสถานะของลูกหนี้ในปัจจุบัน ประสบปัญหาด้านใด ไม่ว่าจะเป็นมูลหนี้ที่มีปริมาณมาก หรืออัตราดอกเบี้ยระดับสูง หากพบว่าปัญหานั้นๆ เป็นปัจจัยให้การแก้ไขหนี้ได้ล่าช้า ก็จะเข้าไปแก้ในจุดนั้น เป็นต้น
นายลวรณกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะใช้ช่องทางของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย เช่น นาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ ปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ให้เปิดช่องทางหรือผ่อนปรนการเข้าถึงสินเชื่อให้แก่ประชาชนรายย่อยให้มากขึ้น ปัจจุบันรายย่อยส่วนใหญ่ใช้ช่องทางในการเข้าถึงแหล่งทุนจากผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายแก้หนี้สินภาคประชาชน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอยู่ในลำดับแรกๆ ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ จะช่วยแก้หนี้ให้กับลูกหนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมมาก เพราะมีการลดเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5% การปรับลำดับการผ่อนชำระหนี้ จากเดิมตัดเบี้ยปรับก่อน ตามด้วยดอกเบี้ย และเงินต้น มาเป็นตัดเงินต้นก่อน ดอกเบี้ย และตามด้วยเบี้ยปรับ จะทำให้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ผู้กู้ผ่อนมาจะถูกนำไปตัดเงินต้นให้หมดอย่างรวดเร็ว
นายชัยณรงค์กล่าวว่า นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังเปิดให้ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องถูกบังคับคดี สามารถเข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้หรือแปลงหนี้ให้กลับมามีสถานะผ่อนชำระได้ปกติด้วย นอกจากจะเป็นผลดีต่อผู้กู้เองแล้ว ยังจะช่วยให้ผู้ค้ำประกันกว่า 2 ล้านคนหลุดพ้นจากความรับผิดได้ เท่ากับว่าจะมีผู้เกี่ยวข้องที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายใหม่ทั้งผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันรวมมากกว่า 5-6 ล้านคน
นายชัยณรงค์กล่าวว่า ระหว่างนี้ กยศ.จะชะลอการฟ้องลูกหนี้ใหม่ และชะลอการบังคับคดี เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลับมาเป็นหนี้ดีได้ สำหรับสถานะของกองทุนแม้จะได้รับเงินการผ่อนชำระที่น้อยลงไปบ้าง แต่ข้อดีคือจะช่วยให้ลูกหนี้ไม่เคยผ่อนชำระเลยกว่า 1 ล้านคนกลับมาผ่อนชำระได้อีกครั้ง ช่วยชดเชยตัวเงินขาดหายไปจากการคำนวณหนี้ตามกฎหมายใหม่ กยศ.ประเมินว่าในปีหน้าจะมีเงินจ่ายหนี้เพิ่มขึ้นจาก 2.4-2.6 หมื่นล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
นายชัยณรงค์กล่าวว่า ส่วนลูกหนี้ถูกบังคับคดีฟ้องร้องหรือขายทอดตลาดไปแล้ว หากต้องการเข้ามาแก้หนี้ กยศ.ก็พร้อมเปิดโอกาสให้ลงทะเบียนได้ เข้ามาทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ได้ ปัจจุบันมีลูกหนี้แจ้งมาแล้วหลายแสนคน และกองทุนจะทยอยนัดทำสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป จะทำสัญญาได้ทุกวันเฉลี่ยวันละ 1,000 คน หรือเดือนละ 30,000 คน จะเปิดจุดให้บริการชั่วคราว ในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา สงขลา ภูเก็ต เพื่อคอยอำนวยความสะดวกด้วย
ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_4302073