Wealth Sharing

ACE เซ็นเรียบร้อย PPA 8 โรงไฟฟ้าชีวมวล พร้อมเดินหน้าก่อสร้างเต็มสูบ


27 พฤศจิกายน 2566
ACE เฮ! หลัง PPA 8 โรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP กำลังการผลิตติดตั้งรวม 79.2 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเสนอขายรวม 64.0 เมกะวัตต์ ได้รับการลงนามร่วมกับ กฟภ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาเรียบร้อยแล้ว พร้อมเดินหน้าก่อสร้างเต็มสูบ คาดเมื่อเปิด COD ครบจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มอีกปีละประมาณ 2,400 ล้านบาทและเพิ่ม EBITDA ได้อีก 1,200 – 1,300 ล้านบาทต่อปี  

ACE เซ็นเรียบร้อย PPA 8 โรงไฟฟ้าชีวมวล.jpg
นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดของไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ทำการคืนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP ที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา จำนวน 8 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 79.2 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเสนอขายรวม 64.0 เมกะวัตต์ ให้กับบริษัทย่อยต่างๆ ในกลุ่ม ACE ที่เป็นเจ้าของโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 ที่มีคำพิพากษาให้ กฟภ. ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่มีก่อนหน้านี้
“การได้คืนมาซึ่ง PPA ของโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP ทั้ง 8 โครงการ โดยเป็นสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) ถือเป็นสัญญาณที่ดีในด้านการเพิ่มกำลังการผลิตรวมของบริษัทฯ ที่จะส่งผลต่อการสร้างรายได้เพิ่มในอนาคต ทั้งนี้คาดว่าหากเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ครบทั้ง 8 โครงการในกลุ่มนี้จะช่วยเพิ่มรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับ ACE อีกประมาณ 2,400 ล้านบาทต่อปี และช่วยเพิ่ม EBITDA ได้อีกประมาณปีละ 1,200 – 1,300 ล้านบาท สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาโครงการเพื่อให้สามารถเปิด COD ได้ทันตามแผนที่วางไว้ต่อไป”  
นายธนะชัย กล่าวเสริมว่า “โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ ACE เหล่านี้ นอกจากก่อให้เกิดประโยชน์ในมิติเศรษฐกิจต่อ ACE แล้ว ยังช่วยสร้างประโยชน์ในมิติสิ่งแวดล้อมและมิติสังคมควบคู่กันด้วย ซึ่งครบทั้ง 3 มิติ E, S และ G ตามหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยทั้ง 8 โครงการนี้ เมื่อ COD ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลที่เป็นพลังงานหมุนเวียนแทนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว คาดว่าจะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละประมาณ 270,000 ตัน ขณะที่การรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้ากลุ่มนี้ก็ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยจะสัมพันธ์ไปกับการช่วยลดพื้นที่เผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่ง คำนวณเป็นพื้นที่ได้อีกปีละประมาณ 1.14 ล้านไร่ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 ให้กับประเทศไปได้พร้อมกัน”
ทั้งนี้ เมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแห่งอื่นๆ ที่เปิด COD ก่อนหน้าแล้วนั้นจะทำให้กลุ่มโรงไฟฟ้าทั้งหมดของ ACE สามารถช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้รวมกันปีละประมาณ 660,000 ตัน สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรได้ปีละกว่า 2,600 ล้านบาท ทั้งช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 ด้วยการลดพื้นที่เผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่งปีละประมาณ 3 ล้านไร่ไปได้พร้อมกัน รวมถึงรายได้เพิ่มที่ตกสู่มือเกษตรกรโดยตรงยังช่วยก่อให้เกิดการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจได้ปีละประมาณ 18,000 – 21,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้สอดรับตามกลยุทธ์ธุรกิจที่คณะผู้บริหารวางไว้นั่นคือ มุ่งสู่การเป็น “ต้นแบบผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดของโลก” และพร้อมเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย “การเป็นองค์กรที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050” ในที่สุด
ACE