Wealth Sharing

SCGD เคาะ IPO หุ้นละ 11.50 บ. ดีมานด์นักลงทุนสถาบันคึกคัก


07 ธันวาคม 2566
บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD ประกาศราคาสุดท้าย IPO ที่ 11.50 บาทต่อหุ้น หลังนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการจองซื้อคึกคัก พร้อมเสนอขายนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยในวันที่ 8 และ 12 - 13 ธันวาคม 2566 และคาดเข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในธันวาคมนี้ ชูศักยภาพผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์และใช้แบรนด์สินค้า รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งในอาเซียนเพื่อต่อยอดขยายตลาดสุขภัณฑ์ และเดินหน้าลงทุนสายการผลิตใหม่กระเบื้องไวนิล SPC ในประเทศไทย และเพิ่มกำลังการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนาม เพื่อตอบสนองดีมานด์

SCGD เคาะ IPO หุ้นละ 11.50 บ.jpg

นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เปิดเผยว่า บริษัทฯ ผสานความแข็งแกร่งของ 5 บริษัทย่อย มุ่งขยายธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และคงความเป็นผู้นำธุรกิจในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการขยายตลาดใน 4 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่มีศักยภาพเติบโตสูงจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 560 ล้านคน โดยใช้จุดแข็งด้านความแข็งแกร่งของแบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค มีสินค้านวัตกรรมและผลิตภัณฑ์หลากหลาย สามารถตอบสนองลูกค้าทุกระดับ มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม ทั้งเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายกว่า 800 ราย และร้านค้าเครือข่ายรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ร้าน ทั้งร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ช่องทางจัดจำหน่ายของบริษัทฯ และออนไลน์ รวมถึงตลาดส่งออกกว่า 57 ประเทศ 
ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวจากการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของรายได้ชนชั้นกลาง คาดว่ามูลค่าตลาดรวมวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในปี 2565 – 2569 จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 180,000 ล้านบาท เป็น 250,000 ล้านบาท โดยความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการสินค้าระดับพรีเมียม สินค้าที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกลุ่ม Smart Products มากยิ่งขึ้น จะเป็นโอกาสของบริษัทฯ ที่จะขยายตลาดในภูมิภาคนี้ 
ปัจจุบันบริษัทฯ ถือเป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีโรงงานผลิตกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย กำลังการผลิตรวม 187.2 ล้านตารางเมตรต่อปี ติดท็อป 5 ของโลก มีโรงงานผลิตสุขภัณฑ์ในประเทศไทย กำลังการผลิต 2.3 ล้านชิ้นต่อปี และโรงงานผลิตก๊อกน้ำในประเทศไทย กำลังการผลิต 1.7 ล้านชิ้นต่อปี และมีส่วนแบ่งการตลาดวัสดุตกแต่งพื้นผิวเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมถึงส่วนแบ่งตลาดสุขภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย  
“บริษัทฯ วางแผนขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก โดยเห็นโอกาสขยายตลาดสุขภัณฑ์จากประเทศไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยหนึ่งในตัวอย่างที่ดีคือการที่ปัจจุบันบริษัทฯ ทำการขยายเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายสุขภัณฑ์ในเวียดนาม โดยต่อยอดจากร้านผู้แทนจำหน่ายกระเบื้อง และจะใช้ ‘COTTO’ เป็นแบรนด์เรือธงเจาะกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม ขณะเดียวกันจะขยายตลาดผลิตภัณฑ์กระเบื้องไวนิล SPC วัสดุตกแต่งพื้นผิวทางเลือกใหม่ในตลาดอาเซียน ล่าสุดได้เดินหน้าแผนลงทุนติดตั้งสายการผลิตใหม่ที่โรงงานหินกอง สระบุรี กำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี  รวมถึงเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ เช่น เตรียมลงทุนโครงการขยายกำลังการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนรวม 6.6 ล้านตารางเมตรต่อปีในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม และอยู่ระหว่างศึกษาแผนลงทุนโรงงานกระเบื้องในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศเวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ไตรมาส 3 ที่ผ่านมาได้เริ่มเดินเครื่องจักรสายการผลิตใหม่กระเบื้องเซมิ-เกลซ พอร์ซเลน และกระเบื้องขนาดใหญ่อีก 1.38 ล้านตารางเมตรต่อปี ที่โรงงาน Dai Loc ในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นสินค้าระดับกลางถึงพรีเมียมที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี” นายนำพล กล่าว   
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ความคืบหน้าการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) หลังจากสำรวจความต้องการจองซื้อหุ้นจากนักลงทุนสถาบัน ถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างดีและมีผู้แสดงความต้องการจองซื้อมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ จึงกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย IPO ที่ 11.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายสุดท้าย และจะเปิดให้นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้น IPO ในวันที่ 8 และ 12 - 13 ธันวาคม 2566 ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย IPO 
การเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงการเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ COTTO เพื่อแลกหุ้นและเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป มีจำนวนไม่เกิน 439,100,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 26.61 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ จะเพิ่มความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินและศักยภาพการขยายธุรกิจ โดย SCGD จะนำไปขยายธุรกิจทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ชำระเงินกู้ การควบรวมกิจการในอนาคต เป็นเงินทุนหมุนเวียนและปรับโครงสร้างเงินทุน ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้างและเสนอขาย IPO เป็นที่เรียบร้อย SCGD จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีผลให้ผู้ถือหุ้น COTTO ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์กลายเป็นผู้ถือหุ้นของ SCGD