Wealth Sharing

สมาคมแบงก์ไทย ผนึกหน่วยงานรัฐ - เอกชน ยกกระดับมาตรการกันหลอกติดตั้งแอปฯดูดเงิน


17 กุมภาพันธ์ 2566
สมาคมธนาคารไทย เผยข้อมูลกลโกงมิจฉาชีพใช้แอปฯ ดูดเงินสร้างความเสียหายต่อประชาชนเป็นมูลค่าราว 500 ล้านบาท แนะนำวิธีสังเกตและวิธีการตรวจสอบความผิดปกติ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับมาตรการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ 
    
สมาคมแบงก์ไทย ผนึกหน่วยงานรัฐ - เอกชน.jpg
นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนแนบเนียนขึ้น และมีเทคนิคที่หลากหลาย ส่งผลให้มีผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 500 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  

สมาคมธนาคารไทยจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ยกระดับมาตรการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพเพื่อช่วยประชาชน   โดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ True AIS DTAC และ NT ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง LINE ได้ร่วมกันดำเนินการดังนี้
•    ตรวจสอบปิดไลน์ปลอมของธนาคาร
•    ควบคุมและจัดการ ชื่อผู้ส่ง SMS (SMS Sender) ปลอม
•    ปิดกั้น URL ที่เป็นอันตราย
•    หารือธนาคารสมาชิกพัฒนาระบบความปลอดภัยแชร์เทคนิคและแนวทางป้องกันภัยร่วมกัน เช่น พัฒนาการป้องกันและควบคุม Mobile Banking Application กรณีมือถือมีการเปิดใช้งาน Accessibility Service เพิ่มระบบการพิสูจน์ตัวตน (Authentication) ด้วย Biometrics Comparison  
นอกจากนี้ หากร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้ จะช่วยให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทำได้รวดเร็วขึ้น ระงับความเสียหายได้อย่างทันท่วงที สามารถบล็อกบัญชีต้องสงสัยได้ โดยไม่ต้องรอแจ้งความ

นายชัชวัฒน์ อัศวรักวงศ์ ประธานกรรมการ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) กล่าวเพิ่มเติมว่า  การหลอกลวงประชาชนจากแอปฯ ดูดเงิน ส่วนใหญ่ดำเนินการใน 3  รูปแบบ ดังนี้
1. หลอกล่อด้วยรางวัลและความผิดปกติของบัญชีและภาษี โดย Call Center โทรมาหลอกด้วยสถานการณ์ที่ทำให้กังวล SMS เป็นการใช้ชื่อเหมือนหรือคล้ายหน่วยงานต่างๆ และ Social Media หลอกให้เงินรางวัลและเงินกู้ หรือโน้มน้าวชวนคุยหาคู่ และให้เพิ่ม (Add) บัญชีไลน์ปลอมของมิจฉาชีพ
2. หลอกให้ติดตั้งโปรแกรม หลอกขอข้อมูล และให้ทำตามขั้นตอนเพื่อติดตั้งแอปฯปลอม (ไฟล์ติดตั้งนามสกุล .apk) โดยใช้ความสามารถของ Accessibility Service ของระบบปฏิบัติการ Android ในการควบคุมมือถือของเหยื่อ 
3. ควบคุมมือถือของเหยื่อและใช้ประโยชน์ ด้วยการใช้แอปฯปลอมเชื่อมต่อไปยังเครื่องของมิจฉาชีพ เพื่อเข้าควบคุมและสั่งการมือถือของเหยื่อ เพื่อโอนเงิน และขโมยข้อมูลต่าง ๆ
 
นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT)  แนะแนวทางการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพว่า  เพื่อเป็นการป้องกันภัยจากแอปฯดูดเงิน แนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้
1.    ตรวจสอบมือถือว่าเปิดแอปพลิเคชันที่ทำงานภายใต้ Accessibility Service หรือไม่ โดยตรวจดูให้แน่ใจว่าเรารู้จักและทราบเหตุผลของการเปิดใช้งานทุกโปรแกรม หากไม่ทราบให้รีบปิด
2.    เปิดใช้งาน Google Play Protect เพื่อตรวจสอบการติดตั้งแอปพลิเคชันอันตราย หากเจอให้ Uninstall ทันที 
3.    ติดตั้งแอปพลิเคชัน Endpoint Protection หรือ Antivirus บนมือถือเพื่อดักจับ และป้องกันแอปพลิเคชันอันตราย หรือมัลแวร์ต่างๆ
 
สำหรับผู้ที่หลงกลตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ  ให้รีบดำเนินการปิดเครื่องทันที ด้วยวิธีกด Force-Reset คือการกดปุ่ม Power และปุ่มลดเสียง พร้อมกันค้างไว้ 10-20 วินาที แต่ถ้าทำวิธีนี้ไม่สำเร็จ ให้ตัดการเชื่อมต่อของโทรศัพท์ด้วยการถอดซิมการ์ด ปิด Wi-Fi หลังจากนั้น ให้ติดต่อธนาคาร แจ้งความทันที