จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : SUPER พร้อมลุย... หลังผ่านเกณฑ์ คุณสมบัติขายไฟฟ้าพลังงานทดแทน (FiT)


16 ธันวาคม 2565

บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) พร้อมเดินหน้าขายไฟ หลังผ่านเกณฑ์คุณสมบัติโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) หนุนเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าแตะ 2,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2567

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์

แบ่งเป็น ก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์, พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์

ซึ่ง Feed-in Tariff หรือ FiT คือ มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (เนื่องจาก การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนค่อนข้างสูง) ซึ่งอัตรา FiT จะอยู่ในรูปแบบอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ (มีการปรับเพิ่มสำหรับกลุ่มที่มีการใช้เชื้อเพลิง) โดยอัตรา FiT จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามค่าไฟฐานและค่า Ft ทำให้มีราคาที่ชัดเจนและเกิดความเป็นธรรม

โดยมีผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้ารวม 670 โครงการ แบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 272 โครงการ และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 398 โครงการ คิดเป็นปริมาณเสนอขายรวม 17,400 เมกะวัตต์ ขณะที่มีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติดังกล่าว จำนวนรวม 523 ราย

สำหรับรายชื่อโครงการผ่านเกณฑ์เบื้องต้นพบว่า มี บริษัทจดทะเบียน(บจ.) หลายรายยื่นขอเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยบจ.ส่วนใหญ่ยื่นคำขอโครงการประเภทโซลาร์ รวมทั้งบมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ซึ่งบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทดแทน โดยล่าสุดได้ตั้งบริษัทย่อยขึ้นใหม่ 14 บริษัท เพื่อรองรับการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้แก่

  1. บริษัท โพนสว่าง โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด
  2. บริษัท บ้านโป่ ง โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด
  3. บริษัท หนองแขม โซลาร์เอ็นเนอร์ยี
  4. บริษัท วังขอนขว้าง โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด
  5. บริษัท หนองแหน โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด
  6. บริษัท กาญจนบุรี โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด
  7. บริษัท ดินทอง โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด
  8. บริษัท ท่าตะโก โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด
  9. บริษัท โคกปี่ฆ้อง โซล่าร์เอนเนอรยี จำกัด
  10. บริษัท กบินทร์ กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด
  11. บริษัท บางปะอิน กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด
  12. บริษัท กรุงเทพ กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด
  13. บริษัท หาดใหญ่ กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด
  14. บริษัท สมุทรสาคร กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUPER “จอมทรัพย์ โลจายะ” ย้ำว่าบริษัทพร้อมเดินหน้ารุกขยายโรงไฟฟ้า และเร่งหาโอกาสการลงทุนใหม่ เพื่อผลักดันการเติบโตของรายได้และกำไร ควบคู่ไปการบรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าแตะระดับ 2,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2567

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีหลัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มั่นใจจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าในมือทั้งในและต่างประเทศที่รับรู้รายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอยเปิด COD จะช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid ขนาด 16 เมกะวัตต์, โครงการโซลาร์รูฟท็อฟสัญญาเอกชน (Private PPA) เพื่อขายไฟให้มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ขนาด 14 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม (วินด์ฟาร์ม) ในประเทศ

ส่วนโรงไฟฟ้าเวียดนาม ขนาด 30 เมกะวัตต์ ซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้วและพร้อม COD รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ จังหวัดหนองคาย ขนาด 6 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในช่วงไตรมาส 4/65