จิปาถะ

นายกฯประกาศแพ็กเกจ แก้หนี้ทั้งระบบ 4 กลุ่ม ลั่นขอให้จบในรัฐบาลนี้


13 ธันวาคม 2566
นายกฯประกาศแพ็กเก copy.jpg

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวการจัดการหนี้ทั้งระบบ  โดยระบุว่าหนี้ในระบบ มีปัญหาไม่แพ้กับหนี้นอกระบบ ถือเป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกัน ขอแบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาออกเป็น 4 กลุ่ม 


-1 คือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
-2 คือกลุ่มที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้จำนวนมาก จนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้
-3 คือกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง แ
-4 คือกลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลานาน

รัฐบาลจัดเตรียมแนวทางช่วยเหลือที่แตกต่างกันตามสาเหตุของปัญหา ลูกหนี้ในกลุ่มที่ 1 คือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มนี้ปกติจะมีประวัติการชำระหนี้มาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ สำหรับลูกหนี้รายย่อยส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รัฐบาลจึงกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงก์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 99 ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้เป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย

สำหรับกลุ่มที่ 2 คือลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ อาจแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต กลุ่มข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทางด้วยกัน

แนวทางแรก คือการลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป ลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 16-25 เหลือเพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้น แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และแนวทางสุดท้าย คือบังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการก็มีระเบียบกำหนดให้ครูต้องมีเงินเดือนเหลือจ่ายอย่างน้อยร้อยละ 30 หลังจากตัดจ่ายหนี้ไปแล้ว

สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือโดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลงเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ รัฐบาลมีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว พักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี โครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ กยศ.ได้ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ดังกล่าว รวมถึงการลดดอกเบี้ย ลดเบี้ยปรับ เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ และยกเลิกผู้ค้ำประกัน จะช่วยลูกหนี้ กยศ.ได้กว่า 2.3 ล้านราย

ส่วนลูกหนี้กลุ่มที่ 4 เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐและบริษัทบริหารสินทรัพย์ จะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า กลุ่มหนี้เสียคงค้างระยะเวลายาวนาน จะมีการโอนหนี้ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ปรับโครงสร้างหนี้ให้คล่องตัว และคาดว่า จะสามารถช่วยลูกหนี้ได้ประมาณ 3,000,000 คน และกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้เจ้าหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถการชำระ ลดดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม ไม่เกิน 15% ต่อปี โดยให้ปิดบัญชีภายใน 5 ปี

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ทั้งหมดนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เพื่อต่อลมหายใจให้ลูกหนี้ แต่ในระยะยาวจะต้องมีการปรับโครงสร้าง ยกระดับการให้บริการสินเชื่อให้เป็นธรรม สะท้อนความเสี่ยงลูกหนี้ มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันปัญหาการก่อหนี้เกิดศักยภาพ โดยให้คำนวณอัตราดอกเบี้ย ตามความเสี่ยงลูกหนี้ และการผ่อนชำระ ต้องให้ลูกหนี้เหลือเพียงพอสำหรับการดำรงชีพ หรือพิจารณาการข้อมูลอื่นประกอบการปล่อยสินเชื่อ เช่น ประวัติการชำระค่าน้ำ ค่าไฟ การผลักดันให้สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือเครดิตยูเนียน ไปยังบริษัทสินเชื่อ เพื่อให้สามารถประเมินความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้ และการตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ได้อย่างเป็นธรรม

นายเศรษฐากล่าวว่าแก้ปัญหาหนี้ให้สำเร็จ และมีผลยั่งยืน ภาครัฐ และเอกชน จะต้องช่วยกัน เสริมสร้างทักษะความรู้การบริหารจัดการเงินแก่ประชาชน หรือจัดให้มีระบบการเงินชุมชน เพื่อช่วยลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ กยศ.จะต้องผ่านการบริหารจัดการหนี้ บุคลากรภาครัฐบรรจุใหม่ ต้องผ่านการอบรมการเงินส่วนบุคคล และเพิ่มตัวช่วยแก่ประชาชน เช่น การให้คำแนะนำแก้หนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้แก่ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และส่งเสริมการออม ให้ประชาชนสะสมเงินออมทุกครั้งในการใช้จ่ายสินค้า และส่งเสริมให้ประชาชนมีเงินออมหลังเกษียณ และยืนยันว่า รัฐบาลห่วงใยลูกหนี้ทุกกลุ่ม มีมาตรการระยะสั้นและระยะยาว การดำเนินการให้สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือ ทั้งลูกหนี้ และเจ้าหนี้ รวมถึงหลากหลายภาคส่วน จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แลทุกภาคส่วน มาร่วมกันแก้หนี้ให้จบในรัฐบาลนี้ ร่วมกันสำรวจ และซ่อมแซมกลไกเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจประเทศ ขยายตัวต่อไปให้ได้

นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงว่าไม่ได้กล่าวหาว่า การเป็นหนี้เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย เพราะมีหนี้ดีที่นำไปจับจ่ายใช้สอย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจ ดังนั้น การมีลูกหนี้ที่ดี จึงเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศโดยรวม แต่สภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดข้อติดขัด จนเกิดการสะสมปัญหา ต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่สามารถปล่อยลูกหนี้เผชิญปัญหาลำพัง และถึงเวลาที่ภาครัฐต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ให้กลับมาเป็นกลไกเศรษฐกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้มาตรกรแก้หนี้ดังกล่าว คาดว่าจะช่วยคนไทยปลดหนี้ได้ กว่า 10.3 ล้านราย ครอบคลุมทั้งหนี้นอกระบบและในระบบ 4 กลุ่มลูกหนี้ โดยนายกฯ ประกาศว่า คนไทยต้องหมดหนี้ภายในรัฐบาลชุดนี้ และสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น

ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_4328109