Wealth Sharing

KBank Private Banking ผนึก Lombard Odier เผย 4 เมกะเทรนด์ลงทุน รับมือการเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก


20 ธันวาคม 2566
KBank Private BankingผนึกLombard Odier เผย 4 เมกะเทรนด์ลงทุน.jpg

KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier เผย 4 เมกะเทรนด์การลงทุนที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ซึ่งทุกความเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนได้เสมอ  ทำให้การจัดสรรสินทรัพย์แบบเดิมไม่เพียงพออีกต่อไป 


นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์  Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการลงทุนเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้นจนทำให้การส่งต่อความมั่งคั่งของแต่ละครอบครัวช้าลงกว่าในอดีต และกระจุกตัวกันจนเกิดเป็นการส่งต่อความมั่งคั่งครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า สภาวะวิกฤตของสภาพอากาศ ทำให้นักลงทุนตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนแบบยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงของกฏเกณฑ์ข้อบังคับและการพัฒนาของสถาบันการเงินที่ทำให้เกิดการนำเงินทุนกลับมาลงทุนในประเทศมากขึ้น และความผันผวนของตลาดในอัตราที่เพิ่มขึ้นทำให้รูปแบบการจัดสรรเงินลงทุนในแบบดั้งเดิมต้องมีการเปลี่ยนแปลง 

KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier  จึงได้สรุป 4 เมกะเทรนด์การลงทุนสำคัญ ดังนี้
1.    The Great Wealth Transfer  คาดว่า ภายในปี 2573 บุคคลผู้ที่มีสินทรัพย์สูงทั่วโลกจะมีการส่งต่อความมั่งคั่งที่มีมูลค่าถึง 18.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 640 ล้านล้านบาท) โดยบุคคลผู้มีสินทรัพย์สูงในเอเชียแปซิฟิกจำนวนกว่า 70,000 ราย ส่งต่อความมั่งคั่งซึ่งจะมีมูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 88 ล้านล้านบาท)  ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวจะได้รับการส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนคติ รูปแบบการใช้ชีวิตและได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ ทำให้มีมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้น และสนใจสิ่งใหม่ๆ ต่างจากรุ่นก่อนหน้า โดยเฉพาะในด้านการลงทุน กลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจและแสวงหาโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลไฟแนนซ์ หุ้นนอกตลาด (Private Equity) ธุรกิจเงินร่วมทุน (Venture Capital) เป็นต้น

2.    Sustainability Revolution จากความเชื่อของ Lombard Odier ที่ว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจกำลังเปลี่ยนผ่าน จากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมที่เรียกว่า W.I.L.D (Wasteful - สิ้นเปลือง, Idle - เกินความจำเป็น, Lopsided – ไม่ทั่วถึง และ Dirty - สกปรก) มาเป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่เรียกว่า C.L.I.C.® (Circular - หมุนเวียนได้ Lean -  เต็มประสิทธิภาพ Inclusive - เข้าถึงคนทุกกลุ่ม และ Clean - สะอาด) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะสร้างโอกาสในการลงทุนกว่า 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (กว่า 190 ล้านล้านบาท) ต่อปี ซึ่งโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ครั้งใหญ่นี้นอกจากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกและการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก ยังนำไปสู่ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นและลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนได้อีกด้วย

3.    Onshorisation ก่อนหน้านี้ นักลงทุนคนส่วนใหญ่มักกระจายการลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากมีทางเลือกและโอกาสในการลงทุนที่มากกว่า แต่ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการและที่ปรึกษาด้านการลงทุนภายในประเทศ สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในประเทศได้โดยที่มีโอกาสและทางเลือกไม่ต่างกัน  นอกจากนี้ในทศวรรษที่ผ่านมา ภาครัฐและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้มีการดำเนินการเพื่อประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนและรายงานการตรวจสอบทรัพย์สินที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อการดำเนินการด้านภาษีเพียงเท่านั้น แต่เป็นการระบุการไหลเวียนของเงินทุนข้ามพรมแดนและการถือครองความมั่งคั่งในต่างประเทศ จึงทำให้นักลงทุนจำนวนมากเลือกที่นำเงินลงทุนกลับมาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น

4.    Current Macro Environment ตลาดที่ผันผวน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่มากขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับพลังงาน วิกฤตสภาพอากาศและสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้นำไปสู่ความไม่แน่นอนแก่เศรษฐกิจในระดับมหภาค ส่งผลต่อเศรษฐกิจในหลายด้าน อาทิ วัฏจักรเศรษฐกิจจากเดิมที่จะมีระยะเวลา 7-10 ปี จะสั้นลงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีช่วงเวลาที่เศรษฐกิจแย่มากว่าช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดี การจัดการการลงทุนด้วยการกระจายการลงทุนแบบดั้งเดิม (Traditional Asset Allocation) อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้อีกต่อไป แต่จะต้องเป็นการกระจายการลงทุนที่ยึดความเสี่ยงเป็นหลัก (Risk-based Asset Allocation) เพื่อตอบสนองต่อสภาพเศรษฐกิจ