Wealth Sharing

เผยข้อมูลปี 2565 บจ.ไทย สร้างรายได้จากตปท. 6.21 ล้านลบ.


21 ธันวาคม 2566
เผยข้อมูลปี 2565 บจ.ไทย.jpg

ปี 2565 เศรษฐกิจโลกเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดและความไม่แน่นอน เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จากฐานข้อมูลการลงทุนต่างประเทศและรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย รวม 810 บริษัท พบข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้


ในภาพรวมปี 2565 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai (บริษัทจดทะเบียนฯ) เปิดเผยข้อมูลการลงทุนในต่างประเทศ 287 บริษัท จากบริษัทจดทะเบียนฯ ทั้งหมด 810 บริษัท หรือคิดเป็น 35% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนฯ ทั้งหมด

ปี 2565 บริษัทจดทะเบียนฯ มีการลงทุนทางตรงในต่างประเทศ โดยมีมูลค่าเงินลงทุนทางตรงในต่างประเทศสุทธิรวม 8.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 21.6% จากปี 2564

อาเซียน เป็นภูมิภาคเป้าหมายที่บริษัทจดทะเบียนฯ เข้าไปลงทุนทางตรงมากที่สุด โดยมีมูลค่าเงินลงทุนทางตรงในปี 2565 เท่ากับ 3.8 หมื่นล้านบาท โดยประเทศเวียดนามยังคงครองอันดับหนึ่งที่สามารถดึงดูดบริษัทจดทะเบียนฯ ไปลงทุนมากที่สุด

บริษัทจดทะเบียนฯ มีรายได้จากต่างประเทศ 6.21 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 32% ของรายได้รวมทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนฯ โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากบริษัทจดทะเบียนใน SET มูลค่า 6.18 ล้านล้านบาท และรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนใน mai มูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท

บริษัทจดทะเบียนฯ ในกลุ่มทรัพยากร เป็นกลุ่มที่มีรายได้จากต่างประเทศสูงสุดในปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากราคาขายน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณขายรวมที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก 

ปี 2565 เศรษฐกิจโลกเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดและความไม่แน่นอน เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 จากผลการดำเนินงานปี 2565 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai (บริษัทจดทะเบียนฯ) มีรายได้รวมสูงถึง 18.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 35.6% ขณะที่มีกำไรสุทธิ 0.97 ล้านล้านบาท ลดลง 6.7% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนฯ มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น อาทิ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขนส่งและโลจิสติกส์ และ วัสดุก่อสร้าง

จากฐานข้อมูลการลงทุนต่างประเทศและรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ รวม 810 บริษัท ที่รวบรวมข้อมูลจากเอกสารหมายเหตุประกอบงบ แบบรายงาน 56-1 หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องของบริษัทจดทะเบียน พบว่า ปี 2565 บริษัทจดทะเบียนฯ มีการลงทุนทางตรงในต่างประเทศ 287 บริษัท คิดเป็น 35% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนฯ ทั้งหมด 

หากพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization: Market Cap) ของบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ไปลงทุนในต่างประเทศ พบว่า ปี 2565 บริษัทจดทะเบียนฯ ที่มีการลงทุนในต่างประเทศมี Market Cap รวมสูงถึง 14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 66.5% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของทั้งตลาด

 เมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนทางตรงในต่างประเทศ  ของบริษัทจดทะเบียนฯ พบว่า ปี 2565 บริษัทจดทะเบียนฯ มีการลงทุนทางตรงในต่างประเทศ โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ  รวม 8.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 21.6% จากปีก่อน โดยประกอบด้วยมูลค่าการลงทุนจากบริษัทจดทะเบียนใน SET มูลค่า 8.58 หมื่นล้านบาท และจากบริษัทจดทะเบียนใน mai    4 ร้อยล้านบาท 

หากพิจารณาตามภูมิภาค พบว่าบริษัทจดทะเบียนฯ มีการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนมากที่สุด โดยมีมูลค่าการลงทุนทางตรงเท่ากับ 3.8 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปเอเชียตะวันออก โดยมีมูลค่าการลงทุนทางตรงเท่ากับ 2.6 และ 0.9 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ โดยประเทศเวียดนาม เป็นประเทศที่บริษัทจดทะเบียนมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในปี 2565 คิดเป็น 82% ของมูลค่าการลงทุนทางตรงรวมในกลุ่มประเทศอาเซียน

จากบริษัทจดทะเบียนฯ ที่มีรายได้จากต่างประเทศ ในปี 2565 จำนวน 337 บริษัท จากบริษัทจดทะเบียนฯ ทั้งหมด 810 บริษัท พบว่ามีรายได้จากต่างประเทศรวม 6.21 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.83 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 41.63%โดยประกอบด้วยรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนใน SET เท่ากับ 6.18 ล้านล้านบาท และรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนใน mai เท่ากับ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยรายได้จากต่างประเทศในปี 2565 ส่วนใหญ่มาจากรายได้ของบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ มีสัดส่วนสูงถึง 49% ของรายได้จากต่างประเทศทั้งหมด

หากจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีรายได้จากต่างประเทศ ในปี 2565 เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มทรัพยากรเป็นกลุ่มที่มีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยเพิ่มขึ้น 59.0% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากราคาขายน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณขายรวมที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก ในขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวที่มีรายได้จากต่างประเทศลดลง โดยลดลง 6.6% จากปีก่อนหน้า 

ในช่วงปี 2549-2565 หากเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศต่อรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยในปี 2565 พบว่ามีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 34 สูงที่สุดในรอบ 17 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 32 ในขณะเดียวกันบริษัทจดทะเบียนฯ ก็มีรายได้จากในประเทศสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยปี 2565 บริษัทจดทะเบียนฯ ที่มีการเปิดเผยรายได้จากต่างประเทศ มีรายได้ในประเทศเท่ากับ 8.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 35% 

เมื่อพิจารณารายได้จากต่างประเทศของจากบริษัทจดทะเบียนฯ ปี 2565 พบว่ามาจาก 1) รายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ ก่อนปี 2565 และ 2) การเปิดเผยข้อมูลรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ ที่จดทะเบียนเข้าซื้อขายใหม่ในปี 2565 และ 3) การเปิดเผยข้อมูลรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนในตลาดก่อนปี 2565 ที่มีเปิดเผยข้อมูลรายได้จากต่างประเทศในปี 2565 แต่ไม่มีการเปิดเผยในปี 2564 

และจากข้อมูลเพิ่มเติมที่บริษัทจดทะเบียนฯ เปิดเผยในรายงาน 56-1 One Report พบว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้จากต่างประเทศในปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ ก่อนปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 39.5% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตาม ประกอบกับปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจ และความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลายลง และมาตรการเปิดประเทศ

หากพิจารณาตามภูมิภาคของรายได้จากต่างประเทศที่มีการเปิดเผยระบุประเทศที่มาของรายได้ พบว่าบริษัทจดทะเบียนฯ มีรายได้จากภูมิภาคเอเชียมากที่สุด โดยมีรายได้ในปี 2565 เท่ากับ 1.7 ล้านล้านบาท รองลงมาคือจากกลุ่มประเทศอาเซียน มีรายได้เท่ากับ 1 ล้านล้านบาท โดยพบว่าบริษัทจดทะเบียนฯ มีรายได้สูงสุดมาจากประเทศเวียดนาม เท่ากับ 3.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 31.8% เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน รองลงมาคือประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ตามลำดับ 

ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดและความไม่แน่นอน ในปี 2565 แนวโน้มการลงทุนต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในด้านจำนวนบริษัท แต่มูลค่าเงินลงทุนลดลงจากปีก่อน ในขณะที่รายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณการขายที่กลับมาดีขึ้นในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้อาเซียน ยังคงเป็นภูมิภาคเป้าหมายหลักที่บริษัทจดทะเบียนฯ ไปลงทุน และแหล่งรายได้จากต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชีย