Wealth Sharing

EXIM BANK ชูโมเดล “Green Development” ขยายพอร์ตสินเชื่อหนุนธุรกิจสีเขียว-อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล


21 ธันวาคม 2566
EXIM BANK ชูโมเดล “Green Development” ขยายพอร์ตสินเชื่อ  สนับสนุนธุรกิจสีเขียวและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พัฒนาอุตสาหกรรมสู่อนาคต ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  

EXIM BANK ชูโมเดล “Green Development”.jpg


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงาน “EXIM Green Wishes Market” จัดโดย EXIM BANK เพื่อส่งความสุขในโอกาสต้อนรับปีใหม่ 2567 ให้แก่ลูกค้าธนาคาร โดยเฉพาะ SMEs และกลุ่มเปราะบางในชุมชน 

โดยยอมรับว่า ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกยังทวีความรุนแรงขึ้น สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังค่อนข้างวิกฤต ทุกภาคส่วนในระดับประเทศและระดับโลกจึงต้องพยายามแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกร่วมกัน  ซึ่งธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Banks) ทั่วโลก รวมถึง EXIM BANK  มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ภาคธุรกิจมากถึง 1 ใน 3 ของมูลค่า Climate Finance โลก

โดย EXIM BANK ได้พัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่สนับสนุนโครงการหรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) เพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกประเภทหนึ่ง สู่ชั้นบรรยากาศโลก คาดว่าพอร์ตสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ EXIM BANK ณ สิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ราว 61,500 ล้านบาท หรือ 35% ของสินเชื่อคงค้างรวมของธนาคาร

นับแต่เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537 จนถึงปัจจุบัน EXIM BANK ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปปักหมุดธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศรวมแล้วกว่า 400 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตกว่า 8,800 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100 ล้านตัน สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 578,300 ล้านบาท ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังพัฒนาสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น สินเชื่อ Solar Orchestra และ EXIM Solar D-Carbon Financing ที่ไม่เพียงให้เงินทุน แต่ยังช่วยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงสินเชื่อ EXIM Green Start ดอกเบี้ยอัตราพิเศษสำหรับ SMEs หรือคนตัวเล็กที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว และในปี 2567 EXIM BANK มีแผนจะออกพันธบัตร Blue Bond เป็นครั้งแรก เพื่อขับเคลื่อน Blue Economy ดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลให้เป็นแหล่งการจ้างงานและแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนของประชากรหลายล้านคนทั่วโลก ซึ่ง Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) คาดการณ์ว่า มูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลของโลกจะสูงขึ้นแตะ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 20 ปีก่อน ขณะที่ผืนน้ำและมหาสมุทรช่วยผลิตก๊าซออกซิเจน (O2) บนโลกมากถึง 50% ช่วยดูดซับความร้อนจากกิจกรรมมนุษย์ถึง 90% ดูดซับก๊าซ CO2 กว่า 25% ทำให้การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ แต่การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงราว 1.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่ในช่วงปี 2558-2562 มีเงินลงทุนจริงไม่ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เท่ากับว่ายังมีช่องว่างของเงินลงทุนเหลืออยู่มากถึงเกือบ 1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 1 ใน 3 ของ GDP ไทย

ดร.รักษ์ กล่าวว่า ในปี 2567 EXIM BANK จะนำโมเดล “Green Development” ไปใช้พัฒนาองค์กรและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการประหยัดพลังงานและเดินหน้าสู่องค์กรสีเขียว องค์กรจะสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนผ่านการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG เร่งยกระดับธุรกิจไทยให้เข้าสู่ ESG Supply Chain ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและการจ้างงานในอุตสาหกรรมสู่อนาคต อาทิ S-Curve ธุรกิจบริการ Soft Power และเกษตรแปรรูป โดยสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและเทรนด์โลก สานพลังกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนสนับสนุน SMEs ไทยสู่เวทีโลกด้วยความพร้อมด้านความรู้ โอกาส เงินทุน และเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนบนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งคนตัวเล็กและกลุ่มเปราะบางในชุมชนและสังคม

EXIM BANK ตั้งเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ในปี 2573 และ Net Zero Emissions ในปี 2593 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทย 20 ปีและ 15 ปีตามลำดับ โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571 ท่ามกลางความท้าทายของทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน การกลับทิศของนโยบายการเงิน แนวโน้มเศรษฐกิจในตลาดการค้าหลัก รวมถึงความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าเป็นระลอก อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกจะกลับมาหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้ โดยมุ่งเน้นสินค้าไทยที่เกาะกระแสเทรนด์โลก เช่น สินค้าเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว สินค้าเทคโนโลยีและดิจิทัล สินค้ารักษ์โลก