ศาลฎีกายกฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ผิด โยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี พ้น เลขาสมช.
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกา อม.) สนามหลวง นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.11/2565 อัยการสูงสุด โจทก์ ยื่นฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กรณีโอนย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ศาลฯ พิพากษายกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหตุจำเลยไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
โดยศาลฯ วินิจฉัยว่ายังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษและรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยโอนย้ายนายถวิลเพื่อให้ตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่างลง
โดยศาลมีคำพากษายกฟ้อง โดยระบุโดยสรุป ดังนี้
1.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพียงคุณสมบัติหรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงไม่ผูกพันศาลฎีกาเรื่องความรับผิดทางอาญา ส่วนคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเป็นการวินิจฉัยเพียงคำสั่งโยกย้ายเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ไม่ได้วินิจฉัยถึงความผิดในทางอาญาเช่นกัน จึงเป็นคนละประเด็นกับที่ศาลฎีกาจากวินิจฉัยในการกระทำความผิดและเจตนาในการกระทำรวมถึงเจตนาพิเศษ
2) คำเบิกความของพยานบุคคล นายบัณฑูร สุภัควณิช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และนายพงษ์ศักดิ์ ไม่ได้ยืนยันว่ามีมูลเหตุจูงใจหรือที่มาของการสั่งการตามที่เบิกความย่อมเป็นธรรมดาที่นายกรัฐมนตรีจะสั่งการได้ ส่วนเรื่องวันเวลาในการโยกย้ายที่ใช้เวลาเพียง 4 วัน นายบัณฑูรเบิกความว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง
3) ศาลรับฟังพยานบุคคลฝ่ายจำเลยสี่ปากประกอบด้วย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตรองนายกฯ ในขณะนั้น , พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร รองเลขาฯสมช. ในขณะนั้น , นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ ในขณะนั้น ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าการแต่งตั้งโยกย้ายนายกรัฐมนตรี เข้ามาชี้นำ หรือสั่งการ ในการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว ส่วนความเห็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นการให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นในฐานะส่วนตัวเท่านั้น มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับการแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล หรือ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี แต่อย่างใด
4) ไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงถึงความเชื่อมโยงในการโยกย้ายนายถวิล เพื่อให้พล.ต.อ.วิเชียร ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแต่อย่างใด เพราะกระบวนการในการโยกย้ายนายถวิล ระยะเวลาห่างจากการแต่งตั้งพล.ต.อ.วิเชียร ถึง 22 วัน และไม่ปรากฏพยานว่าการโอนย้ายนั้น เป็นการเตรียมการโดยแบ่งแยกหน้าที่กันทำ เพื่อให้มีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด ศาลจึงเห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาพิเศษในการแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี แต่อย่างใด
ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_4348810