Wealth Sharing

“พฤกษา” อวดงบปี 65 กำไรสุทธิเติบโต 18% ปี 66 เตรียมผุดศูนย์สุขภาพ มอบบริการคลอบคลุมทุกมุมเมือง


20 กุมภาพันธ์ 2566
20 กุมภาพันธ์ 2566- ปี 2565 พฤกษาโฮลดิ้งทำกำไรสุทธิ 2,772 ล้านบาท เติบโต 18% มีรายได้ 28,640 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2564 รายได้จากวิมุตเติบโตอย่างก้าวกระโดดเพิ่มขึ้น 4.7 เท่า จากปี 2564 ปี 2566 วางแผนเพิ่มการลงทุนเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์วางแผนเพิ่มสัดส่วนโครงการในกลุ่มเซ็กเม้นต์ระดับกลางไปสูง จับกลุ่มลูกค้าพรีเมียมมากขึ้น พร้อมวางแผนเปิดศูนย์สุขภาพแห่งใหม่ มอบบริการครอบคลุมทุกมุมเมือง 

พฤกษา อวดงบปี65  .jpg

นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (PSH) เปิดเผยผลการดำเนินงานในปี 2565 ว่า พฤกษา โฮลดิ้ง มีกำไรสุทธิ 2,772 ล้านบาท เติบโต 18% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีรายได้ใกล้เคียงกับปี 2564 ที่ 28,640 ล้านบาท หรือ เติบโต 1% สามารถทำกำไรขั้นต้นได้ดีขึ้น 9% สะท้อนถึงการบริหารจัดการต้นทุนของสินค้าและบริการได้ดี จากการนำวิศวกรรมคุณค่ามาใช้ (Value Engineering) ทั้งเรื่องการพัฒนาใช้แผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปชนิดมีรูกลวง (Hollow Core) การออกแบบคานคอดิน (Ground Beam) และการเชื่อมซีเมนต์ (Cement Jointing) แบบใหม่ในขั้นตอนการก่อสร้าง รวมถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง จากปริมาณการใช้ซีเมนต์ที่ลดลง พร้อมกับลดค่าขนส่งและจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลงด้วย

ปีที่ผ่านมาพฤกษามุ่งเพิ่มสัดส่วนการสร้างรายได้ประจำต่อเนื่อง (Recurring Income) เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว จึงได้มีการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจใหม่ต่อเนื่องตลอดทั้งปี อาทิ การตั้งกองทุน Corporate Venture 3,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนใน Prop Tech, Health Tech และ Sustainable Tech  และล่าสุดได้ร่วมกับแคปปิตอลแลนด์ อินเวสเม้นท์ กรุ๊ป  และ  แอลลี่ โลจิสติกส์ พร็อพเพอร์ตี้  จัดตั้งกองทุน “CapitaLand SEA Logistics Fund” ตั้งเป้ามูลค่าอสังหาริมทรัพย์โลจิสติกส์ภายใต้การจัดการ 1,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เป็นต้น 

ในขณะที่สถานะทางการเงินของพฤกษายังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกู้ยืมต่อหุ้นทุนสุทธิ (Net Gearing Ratio) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.22 เท่า และจากผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถประกาศจ่ายเงินปันผลเท่ากับ 65 สตางค์ รวมเงินปันระหว่างกาลแล้วจ่ายทั้งสิ้นเท่ากับ 96 สตางค์ กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date) ที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 10 มี.ค. โดยจะนำเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2565 มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเท่ากับ 7.4% และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 19 พ.ค.นี้  

สำหรับปี 2566 คาดการณ์รายได้รวมของทั้งกลุ่มประมาณ 30,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5% เมื่อเทียบจากปี 2565 โดยคาดว่าจะได้รับแรงสนับสนุนมาจากธุรกิจอสังหาฯ ที่จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งสิ้น 23 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 23,500 ล้านบาท และยังมีแผนการลงทุนในธุรกิจใหม่อีกราว 6,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งการลงทุนในธุรกิจใหม่จะเริ่มมีความชัดเจน ทั้งธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงการปรับโครงสร้างของธุรกิจพรีคาสท์ที่คาดว่าจะมีรายได้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามแผนงานการสร้างความยั่งยืนแก่องค์กรต่อไป

ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2565 พฤกษาทำรายได้ 27,191 ล้านบาท เปิดโครงการใหม่รวม 19 โครงการ มูลค่า 11,100 ล้านบาท และในปี 2566 วางกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอ (Portfolio)  มีแผนเปิดโครงการใหม่ 23 โครงการ แบ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยว  8 โครงการ ทาวน์เฮาส์ 11 โครงการ และ คอนโดมิเนียม 4 โครงการ  รวมมูลค่าทั้งหมดราว 23,500 ล้านบาท มุ่งเพิ่มกลุ่มสินค้าที่จับกลุ่มลูกค้าในเซ็กเม้นต์ระดับกลางไปสูง โดยมีแผนเปิดบ้านเดี่ยวพรีเมียมถึง 3 โครงการ ได้แก่   เดอะปาล์มวัชรพล เดอะปาล์ม บางนาวงแหวน และ เดอะปาล์มพัฒนาการ  พร้อมมุ่งบริหารสินทรัพย์ที่มีในมือ  โดยมีที่อยู่อาศัยโครงการปัจจุบันที่ยังเปิดขายอยู่ทั่วประเทศ รวมมูลค่าราว 69,900 ล้านบาท 158 โครงการ 

ปี 2566 บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ 24,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดโอนที่  28,000 ล้านบาท  มุ่งสร้างคุณค่าเพิ่มเพื่อลูกค้า (Customer Value) ด้วยการพัฒนาลิฟวิ่งโซลูชั่น (Living Solution) รองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปตามเมกะเทรนด์ของโลก โดยคำนึงถึงการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) อย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ มีแผนการซื้อที่ดินราว 5,000 ล้านบาท มุ่งเน้นทำเลที่มีศักยภาพเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ในระดับพรีเมียมเพิ่มขึ้น และมุ่งผสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจในเครือพฤกษาทั้งธุรกิจด้านสุขภาพ และธุรกิจอื่นในเครือที่กำลังจะเปิดตัวในปีนี้ด้วย

ด้านธุรกิจเฮลท์แคร์ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2565 ว่า วิมุตทำรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด 1,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7 เท่า จากปี 2564  ซึ่ง 80% เป็นรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19  แม้ว่ารายได้จากโรคที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ลดลงในปีที่ผ่านมา แต่สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น จากการขยายเครือข่ายระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ของโรงพยาบาล  ได้แก่ เวลเนสต์ เซ็นเตอร์ บ้านหมอวิมุต โรงพยาบาลเทพธารินทร์ บริการผ่านดิจิตัลแพลท์ฟอร์ม ทั้งแอพพลิเคชั่น  เทเลเมดิซีน ไปจนถึงความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ เสริมทัพด้วยรายได้จากโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นด้วย ประกอบกับปีที่ผานมาวิมุตสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างชาติ ทำให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลมีจำนวนสูงขึ้น 3.2 เท่าด้วย  ในปี 2566 ทางกลุ่มมีแผนการลงทุนราว 2,500 ล้านบาท   มุ่งเน้นการสร้างและเปิดศูนย์สุขภาพ (Health Center) เพิ่มอีก 3 แห่ง และเตรียมงานพัฒนาโรงพยาบาลวิมุตที่ปิ่นเกล้า  

“นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา พฤกษายังได้รับรางวัลเกียรติยศการันตีผลการดำเนินงานจากเวทีระดับนานาชาติ และระดับประเทศหลายแห่ง อาทิ รางวัลจากเวทีระดับอินเตอร์ ได้แก่ รางวัล 3G Excellence in Sustainable Development Award 2022 รางวัล 3G CSR Leadership Award 2022 และรางวัลระดับประเทศ ได้แก่ “รางวัลองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 10” จากสำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  รางวัล Thailand Top Company Awards รางวัล BCI Asia Top 10 Developers Awards และ รางวัล FINALIST ของกลุ่มรางวัล BEST BRAND PERFORMANCE ON SOCIAL MEDIA เป็นต้น 

สำหรับการดำเนินงานในก้าวต่อไปพฤกษายังคงมุ่งมั่นสู่การสร้างความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2573 และเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2593 ในปีนี้จึงได้ริเริ่มโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้พลังเชื้อเพลิง พลังงานไฟฟ้า ได้แก่ การใช้โซลาร์รูฟ การออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน (Passive Home) การใช้เทคโนโลยี Smart Home การก่อสร้างบ้านด้วยพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ (Low-carbon Precast) และการทำอาคารสำนักงานแบบ Smart Office และ Smart Hospital โรงพยาบาลที่ใช้พลังงานน้อย เป็นต้น” นายอุเทนกล่าวทิ้งท้าย