Talk of The Town

6 เรื่องฉาวแห่งปี 66


28 ธันวาคม 2566
ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมาตลาดทุนไทยมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย และเป็นถือเป็นอีกปีที่หนักหนาสาหัสสุดๆ สำหรับนักลงทุน หวังว่าปีหน้า 2567 ที่กำลังจะมาถึงจะเป็นปีที่ดีขึ้นสำหรับทุกๆ ท่าน แต่สำหรับปี 2566 นี้กองบรรณาธิการ www.Share2Trade.com ได้รวบรวมเรื่องราวเด่นๆ ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมากได้ทั้งหมด 6 เรื่อง ดังนี้ 

6 เรื่องฉาวแห่งปี 66 copy.jpg

1.STARK ครบสูตรหุ้นฉาว

บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ถือเป็นหุ้นที่พบการกระทำผิดที่สร้างความเสียหายในระดับหลายหมื่นล้านบาทให้กับตลาดเงินและตลาดทุนไทย มีพฤติกรรมการตกแต่งบัญชีร่วมกันสร้างทั้งออเดอร์และตกแต่งบัญชี ผิดนัดชำระหุ้นกู้ และดอกเบี้ย รวมทั้งมีการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น (อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง) ขณะที่อดีตผู้บริหารขนเงินบางส่วนหนีออกไปต่างประเทศอย่างไร้ล่องรอย 

เมื่อความเสียหายบานปลาย และมีผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น ถึงขนาด “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เรียกหน่วยงานกำกับดูแลเข้าพบ ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายกับผู้บริหารให้ได้ และป้องกันไม่ให้เกิดอีก เพราะกระทบความเชื่อมั่นใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ 

ล่าสุดวันที่ 27 ธันวาคม 2566 สำนักงาน ก.ล.ต.แจ้งกล่าวโทษอดีตผู้บริหาร STARK รวม 3 ราย ได้แก่ (1) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (2) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และ (3) นางสาวยสบวร อำมฤต ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีขายหุ้นของ STARK โดยอาศัยข้อมูลภายใน และรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตลอดจนก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติมอีกด้วย  

2.OTO เหยื่อ ROBOT TRADE ทุบบิ๊กดีลล่ม

กลายเป็นหุ้นในตำนาน...สำหรับ บมจ.วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO) หลังราคาทะยานแตะระดับสูงสุดที่ 24.40 บาท/หุ้น ในเดือนมิ.ย. ก่อนถูกถล่มขาย 5 ฟลอร์ติด หลังโดน ROBOT TRADE ทุบ กดดันราคาลดลงต่ำสุดแตะที่ระดับ 0.56 บาท ทำเอาบิ๊กดีลโปรเจคโรงไฟฟ้า ที่ดึงกุนซือธุรกิจพลังงาน "บัณฑิต สะเพียรชัย" นั่ง CEO และแผนขายหุ้น PP ให้กับพันธมิตรราคา 16 บาท/หุ้น รวมมูลค่าลงทุนราว 800 ล้านบาท ต้องล้มไม่เป็นท่า  

ขณะที่ “บัณฑิต สะเพียรชัย” ก็ไม่มาตามนัด ดับฝัน New S-Curve จากโรงไฟฟ้า และ Climate Tech 

ราคาในปัจจุบันยังไม่ถึง 1 บาท แม้จะมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ พร้อมกับปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเรียกความเชื่อมั่น... คงต้องใช้เวลาในการเยียวยาบาดแผล หุ้นที่สตอรี่ไม่มาตามนัด!

3. SMK เหยื่อวิกฤติโควิด “เจอ จ่าย จบ” 

บมจ. สินมั่นคงประกันภัย (SMK) บริษัทประกันวินาศภัยรายล่าสุดที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดที่มีการระบาดตั้งแต่ปี 2564  จากการรับประกันภัยโควิค-19 ประเภท "เจอ จ่าย จบ"  ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทั้งมาจากการออกแบบกรมธรรม์ที่เปิดโอกาสให้มีการเคลมได้ง่ายขึ้น  และมาจากการระบาดของโควิดที่มีความยืดเยื้อ  ทำให้บริษัทประกันภัยได้รับความเสียหาย เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันภัยที่มีราคาไม่แพง 

เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา  มีจำนวนผู้เอาประกันมายื่นเคลมสินไหมโควิดจำนวนมาก ทำให้มีจำนวนเคลมสินไหม Covid-19 คงค้างอีกประมาณ 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมสินไหม Covid-19 ที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดจะเท่ากับ 41,875 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายสินไหมที่สูงถึง 63 เท่าของเบี้ยประกันภัยรับ หรือ 6,300% และสูงกว่าการจ่ายสินไหมประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Covid-19 ถึงเกือบ 100 เท่า

จึงยังต้องติดตามฐานะของบริษัท หลังคณะกรรมการคปภ. มีมติสั่งให้ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ 15 ธ.ค.66 เป็นต้นไป หลังศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ

4.JKN ดังไกลระดับโลก

JKN หรือ บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป ภายใต้การนำของ "แอน – จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์" เจ้าของลิขสิทธิ์เวที Miss Universe  ทั่วโลก แต่เพียงผู้เดียว เรื่องราวของความฉาวโฉ่ในห้วงเวลาที่เกิดเรื่องพัดมาระลอกแล้ว-ละลอกเล่า เริ่มจากการ default ของ “หุ้นกู้ JKN239A” ที่ถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ เมื่อ 1 ก.ย. 66  มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ได้อนุมัติขยายเวลาชำระคืนไปแล้ว ก็ดูเหมือนจะต่อลมหายใจให้ JKN ได้ราวๆ 2 เดือน! 

แต่เรื่องราวกลับบานปลาย..ไหลต่อเป็นโดมิโน่  ด้วยยังมีหุ้นกู้อีก 7 ชุดที่จะทยอยครบกำหนดในปี 67-68 มูลค่ารวม 3.3 พันล้านบาท !!  จากเดิมที่มีแผนขอเจรจาขอผ่อนผันการชำระหุ้นกู้ที่เตรียมจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ภายใน 8 ธ.ค. 66  แต่นักลงทุนต้องช็อค! หนักมาก!  เพราะในเช้าวันที่ 9 พ.ย. 66 ทาง JKN ได้แจ้งผ่านตลท.ว่าเมื่อวันที่ 8 พ.ย.66 ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) และศาลฯมี “คำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ” ของบริษัทแล้ว พร้อมกำหนดวันไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 ม.ค.67

ราคาหุ้น JKN เดือน ธ.ค.66 วิ่งอยู่แถวๆ 0.46-0.72 บาท (จากระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 4.46 บาท และต่ำสุดที่ 0.22 บาท)  เกิดคำถามมากมายว่า..เหตุใด JKN จึงเลือกทางเดินนี้ "ทำเช่นนี้ทำไม-เพื่ออะไร-ใครได้ประโยชน์" เพราะงบการเงินงวด 6 เดือน(ตอนที่เกิดเรื่องงบการเงินงวด 9 เดือนยังไม่ออก) บริษัทมีสินทรัพย์รวมมากกว่าหนี้สิน โดยสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 12,161 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินรวมอยู่ที่ 7,398 ล้านบาท (งวดล่าสุด 9 เดือนปี 66 สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 12,437 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินรวมอยู่ที่ 7,625 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 141 ล้านบาท  และมีประเด็นคือ ผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินอันมีผลกระทบฐานะบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ)

5. อีกเรื่องสยองขวัญประจำปีสำหรับนักเทรดหุ้นไทย คงไม่มีอะไรเกินไปกว่า The Naked Short

ทางผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย "ดร.ภากร ปีตธวัชชัย" ย้ำยืนยันเสมอมาว่า ตรวจสอบไม่พบ ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อของบรรดาขาเทรดรายย่อยน้อย-ใหญ่ซึ่งหมายรวมไปถึงเสี่ยๆ เซียนหุ้นที่ปักใจแล้วว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาร้ายแรงส่งผลลบทั่วทั้งซัพพลายเชนวงการหุ้นไทย 

เพราะมองว่าการปล่อยให้ใครก็ไม่รู้มาคุมราคาหุ้นได้ทั้งที่ไม่มีของในมือ แถมต้นทุนถูกกว่า ความเร็วสูงกว่า ด้วยวิธีขายก่อนแล้ววางขู่ออฟเฟอร์หนักๆ เป็นหลักหลายล้านพรวดที 4-5 ช่อง มันย่อมส่งผลเสียต่อราคาหุ้นอยู่แล้ว ต่อให้พื้นฐานหุ้นดีแค่ไหนก็รับไม่ไหว เจ้าของกิจการก็พัง นักลงทุนระยะยาวก็เจ็บซึมลึก ขาเดย์เทรดก็ขยาด หรือแม้กระทั่งพวกกองทุนหรือพอร์ตโบรกฯเองก็ย่อยยับ ภาพรวมทั้งกระดานวอลุ่มหดอย่างน่าใจหายแบบต่อเนื่อง ขืนปล่อยไว้เนิ่นนานเข้าโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรจริงจังสักอย่าง ย่อมเสี่ยงต่ออารมณ์ ความรู้สึก พาลให้เกิดอาการอยากจะหนีออกจากตลาดหุ้นไทยหมดนะ


6.NUSA เสือ-กัด-เสือ

หลังจากกลุ่ม “กิตติอิสรานนท์” เข้าไปถือหุ้น NUSA รวมสัดส่วนราวๆ 49% และได้ส่ง “ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ” เข้ามานั่งเป็นซีอีโอในเดือน ตุลาคม 66 ขณะที่ “กลุ่มเทพเจริญ” ซึ่งเป็นผู้ถือเดิมได้ลดการถือหุ้นเหลือราวๆ 10% ต่อมาเพียง 2 เดือน “ณัฐพศิน” ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งซีอีโอโดยมี “วิษณุ เทพเจริญ” กลับมานั่งแทนที่ ขณะเดียวกันกลุ่ม “เทพเจริญ” ก็ประกาศขายสินทรัพย์ของ NUSA รวม 6 รายการ มูลค่าราว 1.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 70% ของสินทรัพย์ที่มีอยู่ 

ซึ่งใน 6 รายการที่ว่านี้ มีหุ้นธุรกิจพลังงานทั้ง WEH และ DEMCO ซึ่งเป็นธุรกิจที่กลุ่ม “กิตติอิสรานนท์” ผู้ถือหุ้นใหม่ดึงเข้ามา จนเป็นเหตุให้กลุ่มกรรมการบริษัทในฝั่งของ นายประเดช กิตติอิสรานนท์ และพวกรวม 5 คน ยื่นฟ้องกรรมการที่เหลือ 7 คน ซึ่งนำโดยนายวิษณุ เทพเจริญ เพื่อระงับการมอบอำนาจให้กรรมการบริหารจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท ก่อนที่ในวันที่ 26 ธันวาคม กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของ NUSA จะไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ขณะที่กลุ่ม “เทพเจริญ” แถลงโต้ในวันเดียวกัน 

จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าความขัดแย่งระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นเก่าและผู้ถือหุ้นใหม่ของ NUSA จะจบลงแบบไหน และจะจบลงได้เมื่อไหร่-อย่างไร?