Talk of The Town

ปีมังกรพ่นไฟ เมกะโปรเจ็กต์ ครึ่งปีแรก 67 ส่อวืด


02 มกราคม 2567

ปีมังกรพ่นไฟ เมกะโปรเจ็กต์ ครึ่งปีแรก 67 ส่อวืด

ปีมังกรพ่นไฟ เมกะโปรเจ็กต์.jpg

ปี 2567 เป็นอีกหนึ่งปีที่มีความท้าทายโดยเฉพาะในเรื่องของการก่อสร้างหรือประมูลโครงการขนาดใหญ่ใหม่ๆ เริ่มมีปัจจัยความเสี่ยงเข้ามามากขึ้น ทั้งในเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหรือเศรษฐกิจไทยเอง ที่รัฐบาลยังต้องงบประมาณประจำปี 2567 ที่ล่าช้าออกไป และกว่าจะได้ใช้จ่ายยืดเยื้อไปถึงช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 บวกกับข่าวคราวที่ผ่านมาของการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในประเทศที่เกิดปัญหาเรียกได้ว่าเดือนเว้นเดือนเลยก็ว่าได้

แต่ปัญหานี้ ผู้กุมบังเหียนใหญ่อย่าง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันสอดส่องดูแล รวมถึงเตรียมปรับกฎกติกาใหม่ หากพบผู้รับเหมารายใดประมาทเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อโครงการและประชาชน จะทำการแบล๊กลิสต์ อาจไม่สามารถเข้าร่วมประมูลโครงการของรัฐบาลอีกต่อไป

แม้จะมีปัญหาอุปสรรคแต่ในปี 2567 แต่ นายสุริยะเผยว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะเร่งเปิดประมูลในปี 2567 จำนวน 14 โครงการ จากโครงการทั้งหมด 72 โครงการ มูลค่า 5.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการที่จะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2567 มีจำนวน 14 โครงการ วงเงิน 5.7 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 29,748 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างในเดือนเมษายน 2567 2.สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี งานโยธา ฝั่งตะวันตก และงานระบบ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2567 3.โครงการขยายช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4027 ช่วงบ้านพารา-บ้านเมืองใหม่ วงเงิน 510 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคม 2567 4.Service Center ศรีราชา บน M7 ช่วงชลบุรี-พัทยา วงเงิน 1,615 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคม 2567

5.Service Area บางละมุง บน M7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 766 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคม 2567 6.ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) วงเงิน 4,508 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2567 7.โครงการทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2567 8.สายสีแดงช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6,468 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2567

9.สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 10,670 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2567 10.รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 37,527 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2567 11.สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 4,694 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างกันยายน 2567 12.ทางพิเศษ กะทู้-ป่าตอง วงเงิน 14,670 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนตุลาคม 2567 13.ทางพิเศษสายจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 วงเงิน 24,060 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2567 และ 14.รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน นครราชสีมา-หนองคาย วงเงิน 300,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนธันวาคม 2567

นอกจากนี้ ยังมี 9 โครงการ ที่ต้องใช้งบผูกพันของปี 2567 ได้แก่ ส่วนโครงการที่จะมีการผลักดันใช้งบประมาณประจำปี 2567 อาทิ 1.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินลงทุน 61,034 ล้านบาท 3.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย วงเงินลงทุน 2,864 ล้านบาท 4.โครงการศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงินลงทุน 1,361 ล้านบาท

5.โครงการปรับปรุงท่าอากาศยาน 27 แห่ง 6.โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงินลงทุน 14,670 ล้านบาท 7.โครงการทางหลวงพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา วงเงินลงทุน 24,060 ล้านบาท 8.โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-นครพนม วงเงินลงทุน 66,848.33 ล้านบาท 9.โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงินลงทุน 72,920 ล้านบาท

อีกทั้งยังมีการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางบริการขนส่งเสริม (ฟีดเดอร์) เพื่อเข้าถึงฟีดเดอร์ จำนวน 26 เส้นทาง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง-สีแดง (เพิ่มเติม) ผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จ โดยผลการหารือ แบ่งเป็น กรณีที่ 1 เส้นทางที่มีการตัดระยะทางบริการให้สั้นลง และเส้นทางที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ปรับเส้นทางแล้ว ใช้ระยะเวลาในการศึกษา 3 เดือน กรณีที่ 2 เส้นทางที่มีการต่อแนวการให้บริการในจุดการเดินทางที่สำคัญ ไม่มีความซับซ้อนในการดำเนินการ ใช้ระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 6 เดือน

กรณีที่ 3 เส้นทางที่จำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียดของการดำเนินงาน อาทิ ความคุ้มค่าทางการเงินต่างทับซ้อนกับเส้นทางที่มีผู้ให้บริการเดิมหลายราย ใช้ระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 23 เดือน กรณีที่ 4 เส้นทางฟีดเดอร์ 26 เส้นทาง ที่รองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดง คาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษา 9-29 เดือน แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ขบ.และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะสำรวจเส้นทางร่วมกัน คาดว่าประมาณอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม 2566 และภายหลังประมวลเส้นทางชัดเจนแล้ว ขบ.จะพิจารณานำไปประกาศเพื่อเสนอเป็นเส้นทางสำหรับการให้บริการต่อไป

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าในปี 2567 ช่วงต้นปีรัฐบาลจะติดขัดในเรื่องของงบประมาณ เรื่องนี้ทางกระทรวงคมนาคมยอมรับว่าช่วงครึ่งปีแรก ระหว่างมกราคม-พฤษภาคม 2567 จะยังไม่สามารถผลักดันการลงทุนที่ใช้งบประมาณประจำปี 2567 ได้ เนื่องจากงบประมาณยังไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถเสนอตามขั้นตอนและได้รับการอนุมัติในเดือนพฤษภาคม 2567

ส่งผลให้แพลนที่ได้เตรียมไว้อาจล่าช้า โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะยังไม่สามารถเดินหน้าได้ แต่กระทรวงได้วางแผนเร่งรัดการดำเนินงาน โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) หากงบประมาณผ่านการอนุมัติจะต้องสามารถเริ่มกระบวนการประมูลและลงนามสัญญาได้โดยเร็ว

อย่างไรก็ดี แม้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 จะยังไม่สามารถผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้จากการจัดใช้งบประมาณที่ล่าช้า แต่กระทรวงยังคงมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมจากการจัดใช้เงินลงทุนในรูปแบบอื่นๆ อาทิ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) และเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่พร้อมเปิดประกวดราคา ได้แก่ โครงการทางพิเศษฉลองรัช ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ในปี 2567 กระทรวงมีแผนที่จะเดินหน้าโปรโมตดึงเอกชนร่วมลงทุนในโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ เนื่องจากการจัดโรดโชว์ที่ผ่านมาทั้งสหรัฐและญี่ปุ่น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

โดยในปีหน้ากระทรวงจะเดินทางไปโรดโชว์แก่นักลงทุนต่างชาติ อาทิ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และหลายประเทศในตะวันออกกลาง ก่อนเปิดประมูลในปี 2568

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4356791